ว่านงาช้าง
ว่านงาช้าง Sansevieria stuckyi God.-Leb.
ลักษณะ ว่านนี้ไม่มีใบ ต้นงอกโด่ขึ้นมาจากดินมีรูปร่างเหมือนกับงาช้าง แต่เล็กกลม สีเขียว โตขนาดฝักมะรุม แทงหน่อขึ้นมาเป็นกอขยายหน่อขึ้นมาเรื่อยๆ ไป ทนต่อดินฟ้าอากาศไม่มีเสื่อมโทรมว่านนี้มี 3 ชนิด คือ ใบเขียวล้วน ใบเขียวลายดำ และ ใบสีเขียวอ่อนไม่มีลาย
สรรพคุณ ทางสมุนไพร เป็นยารักษาโรค ใช้ดองกับสุราหรือต้มกิน ใช้หัวหรือต้น หรือใช้ต้นอย่างเดียวก็ได้ แก้เลือดตีขึ้นเกี่ยวกับการคลอดบุตร กินแล้วทำให้เลือดกระจายแผ่ซ่านทั่วร่างกาย แก้เลือดเสียหรือช้ำใน เอาหัวโขลกคั้นผสมกับน้ำกินเป็นยาเบื่อพยาธิ และรักษาริดสีดวงทวาร และริดสีดวงงอกในจมูก ทางคุ้มครอง ปลูกไว้กับบ้านมีเดช มีอำนาจ เป็นศิริมงคล
หมายเหตุ ว่านนี้เรียกชื่อตามสีใบว่า ว่านหอกสุระกาฬ (ใบเขียว) ว่านหอกสุระโกฎ (ใบลาย) ว่านช้างประสานงา (ใบเขียวอ่อน)
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 46
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 79
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 20, 38 (ซ้ำ)
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 88
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 47
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 44
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 118-119
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 55, หน้า 75 เรียก ว่านช้างประสานงา
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 95
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 957
Leave a Reply