ว่านพุทธกวัก
ว่านพุทธกวัก Curcuma sp.
ลักษณะ ต้น ใบ เหมือนขมิ้นสีเขียวแต่เล็กกว่า กระดูกใบเป็นสีน้ำตาล หัวแยกออกเป็นหน่อขึ้นที่กาบของต้น เมื่อหน่อยาวพ้นกาบแล้วจะกลับงอลงดินไปอีก แล้วก็งอกพ้นดินใหม่และแตกออกจากต้นเดิมเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไป เนื้อในหัวสีเหลืองอ่อน
สรรพคุณ ทางเมตตามหานิยม ปลูกไว้กับบ้านทำให้เกิดศิริมงคล มีความสุขความเจริญรุ่งเรือง เกิดโชคลาภนานาประการ เป็นเสน่ห์มหานิยม ถ้าปลูกไว้ที่ร้านค้าขาย ทำให้ซื้อง่ายขายคล่องเป็นมหานิยมค้าขายดี จุดธูปบูชาประกอบด้วยดอกไม้ 7 สี เสกน้ำรดด้วย “นะโมพุทธายะฯ”
เมื่อหัวว่านแก่เต็มที่แล้วขุดขึ้น นำมาแกะเป็นรูปนางกวักประกอบพิธีด้วยเครื่องบูชา ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน เอารูปนางกวักที่แกะด้วยหัวว่านนี้ใส่ลงในพานแช่ด้วยน้ำมันจันทน์เพียงครึ่งตัว ถึงยามดึกสงัดแล้วให้เสกบริกรรมด้วย “อิติปิโส ถึง ภะคะวาติฯ” จนปรากฏว่านางกวักลอยขึ้นพ้นน้ำมันจันทน์ หรือน้ำมันจันทน์ที่แช่เคลื่อนตัวหมุนไปรอบๆ พาน นับว่าเป็นการประสิทธิสัมฤทธิ์ผล เอานางกวักนำติดตัวไปด้วย เป็นเสน่ห์มหานิยมวิเศษนัก และยังมีอานุภาพอยู่ยงคงกระพันชาตรี จังงังล่องหนหายตัวอีกด้วย จะปรารถนาสิ่งใดจะสัมฤทธิ์ตามความมุ่งหวังทุกประการ น้ำมันจันทน์หรือน้ำมันหอมที่แช่นางกวักนี้ จะไป ณ ที่ใดให้เจิมหน้าสีปาก นึกสิ่งใดจะสำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ
หมายเหตุ ว่านต้นนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณปิยะ รุ่งรืองเสาวภาคย์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 123 เรียก ว่านกวัก
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 124
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 46
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 290
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 17
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 948 เรียก ว่านกวักอีกชนิดหนึ่ง
ว่านมหากวัก
ว่านมหากวัก Curcuma sp.
ลักษณะ ใบสีเขียวเหมือนขมิ้น แต่เล็กกว่าใบขมิ้น หัวแยกออกเป็นหน่อขึ้นที่กาบของต้น เมื่อหน่อยาวพ้นกาบแล้วจะกลับงอลงดินไปอีก แล้วก็งอกพ้นดินใหม่และแตกออกจากต้นเดิมเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไป เนื้อในหัวสีขาวนวล
สรรพคุณ ทางเมตตามหานิยม ปลูกไว้กับบ้านทำให้เกิดศิริมงคล มีความสุขความเจริญรุ่งเรือง เกิดโชคลาภนานาประการ เป็นเสน่ห์มหานิยม ถ้าปลูกไว้ที่ร้านค้าขาย ทำให้ซื้อง่ายขายคล่องเป็นมหานิยมค้าขายดี จุดธูปบูชาประกอบด้วยดอกไม้ 7 สี เสกน้ำรดด้วย “นะโมพุทธายะฯ”
เมื่อหัวว่านแก่เต็มที่แล้วขุดขึ้น นำมาแกะเป็นรูปนางกวักประกอบพิธีด้วยเครื่องบูชา ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน เอารูปนางกวักที่แกะด้วยหัวว่านนี้ใส่ลงในพานแช่ด้วยน้ำมันจันทน์เพียงครึ่งตัว ถึงยามดึกสงัดแล้วให้เสกบริกรรมด้วย “อิติปิโส ถึง ภะคะวาติฯ” จนปรากฏว่านางกวักลอยขึ้นพ้นน้ำมันจันทน์ หรือน้ำมันจันทน์ที่แช่เคลื่อนตัวหมุนไปรอบๆ พาน นับว่าเป็นการประสิทธิสัมฤทธิ์ผล เอานางกวักนำติดตัวไปด้วย เป็นเสน่ห์มหานิยมวิเศษนัก และยังมีอานุภาพอยู่ยงคงกระพันชาตรี จังงังล่องหนหายตัวอีกด้วย จะปรารถนาสิ่งใดจะสัมฤทธิ์ตามความมุ่งหวังทุกประการ น้ำมันจันทน์หรือน้ำมันหอมที่แช่นางกวักนี้ จะไป ณ ที่ใดให้เจิมหน้าสีปาก นึกสิ่งใดจะสำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ
หมายเหตุ ว่านต้นนี้ได้รับความอนุเคระห์จาก คุณสุวัตร กิติกูล จังหวัดนนทบุรี
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 58-60
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 18
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 302-303
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 111
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 947 เรียก ว่านกวัก ,
หน้า 1000-1001 เรียก ว่านมหากวัก
ว่านกระทู้เจ็ดแบก
กระทู้เจ็ดแบก Alocasisa everardii Gagnep.
ลักษณะ ต้นและใบ คล้ายกับต้นบอนแต่เล็กกว่านิดหน่อย ใบเป็นมันหนากว่าใบบอนเล็กน้อย ต้นและก้านใบสีชมพูเรื่อๆ มีลายคล้ายลายตุ๊กแกเป็นขีดเล็กๆ สีดำจางๆ ทั่วทั้งก้าน หัวมีลักษณะเป็นไหลยาว แล้วแตกเป็นต้นใหม่ได้ หัวว่านชนิดนี้มีรสเผ็ดร้อน เหมือนกับพริกไทย
สรรพคุณ ทางสมุนไพร กินหัวว่านนี้กับสุรา ทำให้โลหิตในร่างกายกระจายมีกำลังแข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน และเป็นยาแก้ช้ำในได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ทางคงกระพัน โดยกินหัวนี้ จะทำให้เนื้อหนังชาไปทั้งตัว ทำให้เกิดกำลังยิ่งนัก หรือเอาหัวว่านนี้ติดตัวไปก็ใช้ได้เหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะตีด้วยกระทู้เจ็ดแบก กระดูกและเนื้อหนังก็ยังไม่แตกหักหรือชอกช้ำแต่ประการใด จึงเรียกว่านนี้ว่า กระทู้เจ็ดแบก
เมื่อปลูกว่านนี้ รดน้ำเสกด้วยคาถากระทู้เจ็ดแบกหรือจะกินว่านนี้ให้เสกด้วยคาถากระทู้เจ็ดแบก 7 คาบ ถ้าหั่นเป็นแว่นดองสุรากินถึง 3 เดือน ฤทธิ์ว่านนี้จะซึมเข้าไปในร่างกายทั้งหมดจนถึงกระดูก ทำให้อยู่ยงคงกระพันตลอดชีพ ตายแล้วเผากระดูกไม่ไหม้ไฟ
คาถากระทู้เจ็ดแบกว่าดังนี้ “อิระชะคะตะระสาฯ”
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 120
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 60
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 67
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 79-80
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 936-937
ว่านกระชายแดง
กระชายแดง Boesenbergia rotunda [L.] Mansf. Cv. Krachai Daeng
ลักษณะ หัวเหมือนหัวกระชายเนื้อสีเหลือง แตกเป็นไหลสั้นๆ มีกระโปกที่รากแต่สั้นกว่ารากกระชายธรรมดา ต้น ใบ เหมือนกระชายธรรมดา แต่ต้นสีแดงสด ท้องใบสีแดงสด หน้าใบเขียวหม่นเป็นนวล เมื่อถูกแสงอาทิตย์จะสะท้อนแสงเป็นพลายปรอท
สรรพคุณ ทางสมุนไพร หัวกินแก้ลมทุกชนิด แก้จุกเสียดแน่นท้อง เป็นยาอายุวัฒนะ เอาหัวว่านมาหั่นตากแดดให้แห้งบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดพุทรา กินก่อนเข้านอนทุกวัน
หมายเหตุ ว่านนี้บางที เรียกว่า ว่านแสงอาทิตย์ และยังมีกระชายอีกชนิดหนึ่งที่คล้ายกับกระชายแดง แต่สีของต้นและท้องใบเป็นสีแดงเรื่อๆ หน้าใบสีเขียวหม่นแต่ไม่เข้มเท่ากระชายแดง ชนิดนี้เป็น กระชายป่า ที่หมอสมุนไพรใช้ทำยา จึงขอให้สังเกตให้ดี
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 70
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 118
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 62
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 63
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 61
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 74
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 940