ว่านกระชายขาว
กระชายขาว Kaempferia parviflora Wall. ex Baker
ลักษณะ ต้น ใบ และหัว เหมือนกับกระชาย แต่หัวเป็นปุ่มไม่เหมือนกับกระชายทั่วไป เนื้อในหัวเป็นสีขาว หรือ สีขาวปนสีม่วงอ่อนๆ หรือ สีขาวขอบเขียวนิดๆ ไม่เหมือนกัน สุดแล้วแต่อากาศ และชนิดดินที่ใช้ปลูก
สรรพคุณ ทางสมุนไพร เป็นยาแก้บิด ผสมกับสุราหรือน้ำร้อนกินแก้บิด แก้ปวดท้อง แก้ป่วง และแก้ลมทุกชนิด ตำเป็นผงกินกับน้ำผึ้งเป็นยาอายุวัฒนะ ใช้ผงกวาดเด็กแก้ตาลทรางดีนัก แก้มดลูกพิการ ให้ต้มกับน้ำกิน แก้โรคตาทุกชนิด เอาหัวนั้นมาปิ้งไฟนิดหน่อย แล้วดองสุรา หมกข้าวเปลือกไว้สามคืน แล้วคั้นเอาน้ำมาหยอดแก้โรคตาดังกล่าว หัวกินแก้ลมทุกชนิด แก้บิด แก้ท้องเดิน
หมายเหตุ ว่านชนิดนี้เรียกอีกชื่อว่า กระชายหอม
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 69-70 เรียก กระชายดำ กระชายขาว
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 939
ว่านกบ
ลักษณะ ใบเหมือนหมากผู้หมากเมีย (บางตำราว่าเหมือนอุตพิษ) หัวว่านคล้ายกับตัวกบอยู่ในท่าหมอบมีสี่ตีนเหมือนกบ เปลือกของหัวคล้ายหนังกบ มียอดงอกออกจากปากคล้ายหนวดปลาดุก หัวว่านเป็นรูปปลาปักเป้า สีเขียวติดกันเป็นพืด ยางเหนียว เมื่อถึงฤดูฝนจะร้องเรียกหากันเหมือนกบ
สรรพคุณ ทางเล่นแร่แปรธาตุ โดยเอาหัวว่านกบที่จะใช้แบ่งออก บดให้ละเอียด แล้วกวนกับปรอท จะทำให้ปรอทนั้นตายเป็นกายสิทธิ์ แล้วใช้ผ้าดำย้อมด้วยมะเกลือ ห่อปรอทกายสิทธิ์นั้นไว้ (ปรอทตาย คือ ปรอทที่แข็งตัวดังเหล็กกล้า เหมือนเพชรน้ำหนึ่ง เอาของแข็งทุบตีปรอทกายสิทธิ์นี้ ก็ไม่แตกสลายยังคงอยู่เหมือนเดิม มีสีสรรเป็นประกายรัศมีเหมือนปรอทที่ยังไม่แข็งตัวทุกประการ ใช้นำติดตัวไปด้วยอยู่ยงคงกระพันต่อศาสตราวุธทุกชนิด มีคุณสมบัติอานุภาพเหมือนเหล็กไหล เดินทางไกลไม่เหนื่อยอ่อนเมื่อยล้าแต่อย่างใด)
ถ้าจะทำดีบุกหรือตะกั่วให้เป็นเงิน ให้เอาตะกั่วหรือดีบุกใส่เบ้าหลอมให้ละลายดี แล้วเอาปรอทที่ห่อในผ้าดำนั้น ซัดลงไปในเป้าจะทำให้ตะกั่วหรือดีบุกนั้น กลายเป็นเงินขึ้นมา ถ้าเอาเงินนี้มาแผ่เป็นแผ่น ลงยันต์ ม้วนเป็นตะกรุดใช้ป้องกันตัว มีอานุภาพเช่นเดียวกับปรอทกายสิทธิ์ และเหล็กไหล
ทางคงกระพัน เมื่อกินหัวว่านนี้ เมื่อถูกตีฟันแทง จะเบ่งรับอาวุธที่ถูกทำร้าย เหมือนกบหรืออึ่ง ไม่มีบาดแผลแต่ประการใด หรือพกติดตัว ภัยอันตรายต่างๆ ไม่มาแผ้วพาน
ทางสมุนไพร เอาหัวว่านกบนี้หั่นแช่น้ำ อาบแก้ผื่นคัน แก้ลมพิษ
ว่านกบนี้ เป็นว่านกายสิทธิ์มีเทวดารักษา ตำราของอาจารย์ญาณโชติ ได้กล่าวถึงวิธีดูแลรักษาไว้อย่างละเอียดดังนี้ เมื่อจะปลูก ต้องจุดธูปเทียน ข้าวตอกดอกไม้ บูชาเทวดา และว่าสักเคชุมนุมเทวดา ทำน้ำมนต์รดด้วย คาถาพระเจ้า 5 พระองค์ และ นวหรคุณ 9 คาบ ว่า นะโม 3 จบ ดังนี้ “นะโมพุทธายะ อะสังวิสุโลปุสะพุภะฯ”
เมื่อหัวว่านแก่เต็มที่แล้ว จะขุดเอาหัวว่านไว้ใช้ทำประโยชน์ ให้เขียนยันต์ตัวเลขใส่บนฝ่ามือ เสกด้วยคาถาพระเจ้า 5 พระองค์ และนวหรคุณ แล้วจึงขุดว่านกบนี้ เมื่อขุดออกจากดินเรียบร้อยแล้ว จึงเอาลวดเล็กๆ ร้อยปาก ผูกเป็นห่วง เก็บไว้หรือใส่ภาชนะในที่สมควร เมื่อจะเอาลวดร้อยปาก เสกด้วยคาถา “อิมัง กายะพัน ทะนัง อะทิถามิฯ” เพื่อป้องกันว่านกบหนี ถ้าจะปลูกจึงเอาลวดที่ร้อยปากออกเสียแล้วจึงทำพิธีปลูก
การเขียนเลขยันต์บนฝ่ามือ
เมื่อเขียนเส้นยันต์สี่เหลี่ยมว่าคาถานี้ “จัตตุยันตังสันตังฯ”
เมื่อขมวดหัวยันต์ทั้งสี่มุมว่าคาถานี้ “วิกรึงคะเรฯ”
เมื่อเขียนเส้นขวางในตายันต์ว่าคาถานี้ “อัตถิยันตังสันตังฯ”
เมื่อเขียนเลขไทยในตายันต์ว่าคาถานี้ “ 1 เอกะยักขา 2 นะวะเทวา 3 ตรีนิสิงเห 4 จตุเทวา
5 ปัญจะพรหมานะมามิหัง 6 ฉ้อวีจชะราชา 7 สัตตะนาเค 8 อัตถะอรหันตา 9 นะวะเทวา พุทธะสังมิฯ”
หมายเหตุ ว่านนี้มีอีกชื่อหนึ่ง คือ ว่านพระยาอังกุลี (อีกชนิดหนึ่ง) เป็นกล้วยไม้ดินชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า ว่านหัวครู เอี้องพร้าว
พบในตำราของ
ชิตร์ วัฒนะ. ลักษณะว่าน. 2473, หน้า 6
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 17 เรียก ว่านกบ ว่านอึ่ง เป็นชนิดเดียวกัน
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 31-32
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 79 เรียก ว่านข้าว(ท้าว)อังกุลี
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 31
เรียก ว่านพระยะอังกุลีอีกชนิดหนึ่ง
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 42
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 69
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 33
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 57
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 44 เรียก ว่านอึ่ง
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 944-946
กงจักรพระอินทร์
กงจักรพระอินทร์ Curcuma aeruginosa Roxb.
ลักษณะ ต้น และใบคล้ายต้นขมิ้น เนื้อในหัวมีสีเหลืองอมเขียว
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ใช้รักษาโรคทางตา โดยนำหัวว่านมาปอก แล้วปิ้งไฟพอเกรียม ดองกับสุรา หมกข้าวเปลือกไว้สามคืน แล้วจึงคั้นเอาแต่น้ำเก็บไว้หยอดตา เป็นยาแก้ปวดท้อง ลงท้อง จุกเสียดแน่น แก้ธาตุพิการ ให้เอาหัวว่านมาฝนกับน้ำสุราเป็นกระสายรับประทาน
ทางคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม โดยนำหัวมาติดตัวหรือกิน เสกด้วย “อุทธัง อัทโธ นะโมพุทธายะ จะพะกะสะ พุทธะสังมิ” ตามกำลังวัน
หมายเหตุ ว่านนี้ น่าจะเป็นต้นเดียวกับ ว่านฉัตรพระอินทร์ หรือ ว่านฉัตรพระพรหม
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 125
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 45-46
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 56
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 77-78 เรียก ว่านจักรพระอินทร์
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 113
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 946
ว่าน น้ำทอง
ชื่อว่าน: ว่าน น้ำทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์ของว่าน: Anoectochilus reinwardtii Bl.
วงศ์ของว่าน: ORCHIDACEAE
ชื่ออื่นๆ: