ความเป็นมาของว่านไทย
ว่านนั้น มีการศึกษาและปลูกเลี้ยงกันมานานเท่าไรไม่มีใครทราบ ความเชื่อในลักษณะนี้มีมาแต่ครั้งยุคโรมันโบราณ ชาวโรมันเป็นชาติแรกที่เก็บ หน่อไม้ฝรั่ง(Asparagus)จากป่ามากินหน่อครั้งก่อนคริสตกาลประมาณ200ปี หลังจากนั้นอีก300ปีชาวโรมันรู้จักนำพืชต้นนี้มาปรุงเป็นยารักษาโรค เหง้านำมาตำแก้ผึ้งหรือแมลงกัดต่อย ต้นเคี้ยวกับเกลือแก้ปวดฟัน รวมทั้งปรุงเป็นยาแก้บวมน้ำ(Dropsy) จักรพรรดิองค์แรกของกรุงโรม (Augustus) มีความเชื่อว่าหน่อไม้ฝรั่งที่ผลิหน่อออกมาแล้วตายซากแห้งคาต้นนั้น เมื่อนำมาชงเป็นชาแล้วเสกด้วยคาถาเก่าแก่ของโรม จะทำให้อยู่ยงคงกระพัน
สำหรับของไทยมีเค้าเงื่อนของการเลี้ยงว่านจากสายวัฒนธรรมมอญและเขมรแต่โบราณ ตำราพิชัยสงครามทุกเล่มระบุว่าว่าน คือสุดยอดคงกระพัน โดยธรรมชาติ นักรบโบราณนิยมการอาบว่าน เคี้ยวว่าน โบราณจารย์ในอดีตล้วน ปลูกว่าน เลี้ยงว่าน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ปรากฏหลักฐานตามตำนานการสร้างพระรอดลำพูน ในสมัยหริภุญชัย (ประมาณ พ.ศ. 1200) ว่าการสร้างพระรอด กล่าวถึงสุกกทันต์ฤษี และวาสุเทพฤษี ประชุมฤษี ๑๐๘ รูป มาชุมนุมสร้าง โดยเอาดินบริสุทธิ์จากใจกลางทวีปทั้ง ๕ ตัวยา ๑,๐๐๐ ชนิด เกสรดอกไม้ ๑,๐๐๐ ชนิด และว่าน ๑,๐๐๐ ชนิด มาผสมกันจนละเอียดกดลงในพิมพ์นำไปเผา เสร็จแล้ว สุกกทันตฤษี วาสุเทพฤษี ได้ทำพิธีปลุกเสกด้วยเวทมนต์อันศักดิ์สิทธิ์และเนื่องจากการสร้างพระรอดจากวัสดุต่างๆ นำมาผสมกัน ดังกล่าวแล้วจึงปรากฏว่าองค์พระ ที่สร้างมีสีหลายสีเนื่องจากส่วนผสมและการเผา จึงได้พบสีต่างๆ ได้แก่ สีเขียว สีเขียวอ่อน สีขาวปนเหลือง สีดำ สีแดงสีดอกพิกุล เป็นต้น พระเครื่องเนื้อดิน เนื้อผงล้วนมีส่วนผสมสำคัญคือว่าน การเปิดกรุวัดตาเถรขึงหนัง ที่สุโขทัย กลิ่นหอบตลบของว่านเสน่ห์จันทร์ที่สร้างแต่ยุคกรุงสุโขทัย(ประมาณ พ.ศ. 1800)ที่ยังคงกำซาบซ่านมาจนทุกวันนี้ ภาคเหนือที่ดอยคำจังหวัดเชียงใหม่เจดีย์ถล่มทลายพบพระพิมพ์สามหอมที่ผสมด้วยว่านหอมของภาคเหนือเป็นสำคัญ คนไทยที่เป็นนักสู้อยู่บนหลังม้า หรือถือดาบอยู่บนดินต่างชำระร่างกายด้วยว่าน เคี้ยวว่าน หรือสวมใส่ผ้าประเจียดและรัดแขนด้วยว่านเช่นกัน
ในช่วงอยุธยา(ประมาณ พ.ศ. 1893) ก็ปรากฏว่ามีการเล่นว่านใช้ว่านกันอยู่ไม่น้อย เช่นชาวบ้านบางระจัน ไปจนถึงในพระบรมหาราชวังเช่นในสมัยของขุนวรวงษาธิราช และสมัยพระนารายณ์ แม้แต่ในตำราโอสถพระนารายณ์ก็ มีระบุถึงสรรพคุณว่านบางชนิดอยู่
ล่วงมาถึงยุครัตนโกสินทร์( พ.ศ. 2325 เป็นต้นมา) ว่านยังคงอยู่กับสังคมไทยอย่างเงียบๆ แต่แนบแน่นในลักษณะที่รู้กันในครอบครัวหรือ ถ่ายทอดจากครูสู่ลูกศิษย์ รุ่นต่อรุ่นและมักปกปิดเอาไว้ หนังสือตำราแบบสมัยใหม่ที่กล่าวถึงว่านอย่างชัดเจนเท่าที่สืบเค้าเงื่อนได้ ได้แก่
พ.ศ. 2452 หนังสือชื่อ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เขียนโดย พระยาพิศประสาทเวช
พ.ศ. 2464 หนังสือชื่อ แพทย์ตำบลเล่ม1 เขียนโดย พระยาแพทย์พงศา วิสุทธาธิบดี(สุ่น สุนทรเวช)
หลังจากปี พ.ศ. 2464 เป็นต้นมา การศึกษาและสนใจเรื่องว่านก็ เริ่มชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากสาเหตุที่ในช่วงปี พ.ศ. 2468 -พ.ศ. 2476 ประเทศไทยอยู่ในยุคที่ประสพปัญหาเศรษฐกิจ รายได้ตกต่ำข้าวยากหมากแพง โจรผู้ร้ายชุกชุม สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจส่วนหนึ่งคงหนีไม่พ้น ว่าน จนกระทั่งมีผู้เห็นความสำคัญที่จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับว่านโดยตรงขึ้นเพื่อให้ชัดเจน ลดการสับสน
พ.ศ. 2473 หนังสือชื่อ ลักษณะว่าน จึงเกิดขึ้น เขียนโดย นายชิต วัฒนะ
พ.ศ. 2475 -2676 หนังสือชื่อ ตำรากระบิลว่าน เขียนโดย หลวงประพัฒน์สรรพากร ซึ่งหนังสือเล่มนี้เองเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางแม้กระทั่งราชบัณฑิตยสถานยังยอมรับและใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในพจนานุกรมฉบับพ.ศ. 2493
พ.ศ. 2480 หนังสือชื่อ ตำราว่านยา108 อย่าง เขียนโดย ค.ส.
พ.ศ. 2480 (ปีเดียวกัน)หนังสือชื่อ คู่มือนักเลงว่าน เขียนโดย ล.มหาจันทร์
พ.ศ. 2484 หนังสือชื่อ ตำราสรรพคุณยาไทย ว่าด้วยลักษณะกบิลว่าน เขียนโดย นายไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ
พ.ศ. 2503 หนังสือชื่อ ตำราดูว่านและพระเครื่องบรมธาตุ เขียนโดย นายชัยมงคล อุดมทรัพย์
พ.ศ. 2504 หนังสือชื่อ ตำรากบิลว่าน เขียนโดย นายพยอม วิไลรัตน์
พ.ศ. 2505 หนังสือชื่อ ตำราวิธีปลูกว่านและดูลักษณะว่านเขียนโดย นายสิริ จิตโต
พ.ศ. 2506 หนังสือชื่อ ตำราดูว่านอันศักดิ์สิทธิ์ เขียนโดย อาจารย์ชั้น หาวิธี
พ.ศ. 2506 (ปีเดียวกัน)หนังสือชื่อ ตำราลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน เขียนโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ พิมพ์ออกจำหน่ายในนามของสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งเล่มนี้เองได้รวบรวมว่านไว้มากถึง302 ชนิด และมีชื่อทางพฤกษศาสตร์กำกับไว้มากถึง 143 ว่านด้วยกัน ซึ่งพอที่จะทำให้การศึกษาเรื่องว่านดู เป็นหลักตามสากลมากขึ้น หลังจากนั้นมาก็ มีหนังสือต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะ ในช่วงปี พ.ศ. 2522 -พ.ศ. 2525 ซึ่งหนังสือเหล่านี้ยังคงพอหาอ่านได้บ้างในเวลานี้
อีกมิติหนึ่ง ของการศึกษาทาง พฤกษศาสตร์ ในเมืองไทย ปรากฏว่ามี ชาวสวีเดนชื่อ Engelbert Kaempfer พรรณาพืชในตระกูลเปราะของไทย ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2334 ภายหลังจากนั้น Carolus Linnaeus (ยุคหลังกว่า) ได้ให้นามทางพฤกษศาสตร์ของพืชพวกเปราะว่า Kaempferia เพื่อเป็นการยกย่องท่านผู้นี้ ถัดมาในปีพ.ศ. 2421 มีนักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ชื่อ Johann Gerhard Koennig ได้เดินทางมาไทยเพื่อศึกษาและพิมหนังสือชื่อ Chlosis Siamensis อันเป็นหนังสือต่างประเทศเล่มแรกที่เขียนเกี่ยวกับพืชในไทยโดยตรง ซึ่งก็โด่งดังไปในแวดวง นักพฤกษศาสตร์ทั่วโลก อย่างไรก็ ดี หนังสือเล่มนี้ ก็ ยังอ้างอิงหนังสือของ พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ List of common trees, Shrubs, etc., in Siam ซึ่งเขียนไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว จวบจนช่วง ปีพ.ศ. 2473 -พ.ศ. 2498 การศึกษาทาง พฤกษศาสตร์ ในเมืองไทยอยู่ในยุคของ พระยาวินิจวนันดร ท่านผู้นี้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ในเมืองไทยไว้หลายเล่ม อีกทั้งเป็นผู้วางรากฐานในการก่อตั้งหอพรรณไม้เพื่อเก็บตัวอย่างพืชขึ้นเพื่อการสอบสวนและศึกษาตามหลักสากล จากนั้นต่อมาก็ มีหนังสือต่างๆ ตามออกมาเป็นลำดับ อาทิ Flora of Thailand และ พันธุ์ไม้ป่าของเมืองไทย เป็นต้น จนถึงปี พ.ศ. 2523 ดร. เต็ม สมิตินันท์ ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมป่าไม้ เมื่อใกล้เกษียน ท่านได้ทำการสังคายนาชื่อพืชและจัดทำเป็นหนังสือ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ซึ่งหนังสือเล่มนี้ ก็ ได้ใช้อ้างอิงกันจนถึงทุกวันนี้
ย้อนกลับมาถึงเรื่องตำนานเกี่ยวกับว่าน บางตำรากล่าวถึง“พระตำหรับว่าน” ว่า “สิทธิการิยะ ยังมีพระฤาษี ภ องค์ในผืนแผ่นดินนี้ มีฤทธาอานุภาพยิ่งกว่าบรรดาโยคีและฤาษีทั้งปวง ทั้ง ภ องค์นี้มีนามว่า กะวัตฤาษีองค์หนึ่ง กะวัตพันฤาษีองค์หนึ่ง สัพรัตถนาถฤาษีองค์หนึ่ง จังตังกะปิละฤาษีอีกองค์หนึ่ง พระฤาษี 2 องค์ใน 4 องค์นี้ ได้ให้ธาตุทั้ง 4 ตั้งอยู่เป็นอธิบดีแก่บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวง ส่วนท่านฤาษีองค์ที่ 4 คือท่านจังตังกะปิละนั้น ได้ตั้งบรรดาบิลว่านต่างๆ ขึ้นไว้ สำหรับท้าวพระยาทั้งปวงอันรู้จักคุณพระรัตนตรัย คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ทั้งยังรู้จักอดกลั้นต่อบรรดาอกุศลกรรมทั้งหลายอีกด้วย เพื่อสำหรับท้าวพระยาและสมณชีพราหมณ์ทั้งปวง จะได้รู้จักสรรพคุณและสารประโยชน์จากว่านต่างๆ เหล่านั้น ไปช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ และช่วยปกป้องผองภยันตรายทุกข์ภัยนานาประการแก่ผู้เฒ่าผู้แก่ แลคนทั้งปวงทั่วกัน”
ความเชื่อเกี่ยวกับฤทธิ์ของ ว่านต่างๆ มีอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อยไปกว่าเวทย์มนต์พระคาถา โดยสามารถป้องกันภยันตรายต่างๆ ได้ เช่นอยู่ยงคงกระพันชาตรี (คือใช้ของมีคมเช่นมีดฟันถูกร่างกายแล้วไม่เข้าเป็นบาดแผลตามปรกติทั่วๆ ไป อย่างมากเป็นเพียงรอยขีดบนผิวหนังเล็กๆ มีเลือดออกซิบๆ หรือบวมนูนเพราะรอยถูกฟันอย่างแรงให้แลเห็นเท่านั้น หรือใช้ปืนยิงไม่ดัง ไม่มีลูกปืนออกมาถูกตัว หรือถ้ามีเสียงหรือมีลูกปืนออกมาก็แคล้วคลาดไม่กระทบถูกร่างกายส่วนหนึ่งส่วนใด หรือถ้าหากกระทบถูกต้องร่างกายก็ไม่มีบาดแผลปรากฏแก่ ร่างกายนอกจากแก่เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นรอยถูกกระสุนไหม้เกรียมหรือเป็นรูขาดเท่านั้น) เมื่อกินว่านเข้าไปแล้วให้มีกำลังวังชาเกิดขึ้นมากมาย มีใจฮึกเหิมไม่หวาดกลัวต่อบรรดาศาสตราวุฒทั้งปวงสามารถต่อสู้เอาชนะคนหมู่มากที่รุมล้อมได้ ว่านบางชนิดทำให้คนปรกติดีๆ ที่ไปถูกเข้าถึงกับเป็นง่อยเปลี้ยเสียขาไปก็มี บางชนิดมีพิษทำให้ถึงกับตายได้ก็มี ว่านบางชนิดทำให้เกิดเป็นเสน่ห์เมตตามหานิยมแก่ผู้มีว่านชนิดนั้นติดตัว ว่านบางชนิดทำให้เกิดเป็นเสนียดจัญไรได้ เช่นว่านดอกทอง บางชนิดใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ เช่น ว่านน้ำและว่านหางจระเข้ ว่านบางชนิดสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ลองพุ่งเป็นดวงในเวลากลางคืน นำเอาดวงหน้าคนปลูกไปแสดงด้วย เที่ยวเพ่นพ่านดังภูตผีปิศาจ เช่นว่านกระสือเป็นต้น ทั้งๆ ที่ว่านมีอิทธิฤทธิ์ดังกล่าวมาแล้วต่างๆ ก็ยังคงมีผู้สนใจศึกษาในเรื่องของว่านน้อยมาก ทั้งนี้เป็นเพราะขาดการเชื่อถือ และไม่มีผู้รู้ที่สามารถชี้ชัดลงไปว่าว่านชนิดใดมีรูปร่างลักษณะอย่างใดแน่ ขาดทั้งตัวอย่างสำหรับนักศึกษาพอจะศึกษาตามหลักเกณฑ์ทางแผนปัจจุบัน ยิ่งในทางสรรพคุณแสดงอิทธิฤทธิ์ของว่านด้วยแล้ว ยิ่งหาผู้ทรงวิทยาคุณชี้ชัดว่าว่านอย่างนี้มีสรรพคุณทางยาอย่างใด มีอิทธิฤทธิ์อย่างใดให้แน่นอนยากมาก เพราะขาดผู้ชำนาญที่เคยใช้เคยทดลองหรือเคยพบเคยเห็น ส่วนมากมักพูดว่าเคยพบจากตำราหรือท่านว่าแต่อย่างเดียวทั้งๆ ที่บรรดาว่านต่างๆ ได้ถูกท่านโบราณจารผู้ทรงวิทยาคุณทางคาถาอาคมขลังได้รวบรวมบรรดาหัวว่านสำคัญต่างๆ ไว้อย่างน้อย 108 อย่าง ทำเป็นผงผสมกับเกสรไม้หอม เช่น พิกุล บุนนาค มะลิ บัวทั้ง 5 ประกอบด้วยผงวิเศษต่างๆ มีผงอิทธิเจ, ผงปถมัง, ผงตรีนิสิงเห, ผงมหาราช, ผงมหานิยม, ผง ณ หน้าทอง, ผงอิติปิโส 108, ผงคัมภีร์, กาฝากมะนาว, กาฝากพุด, ไคลโบสถ์, ไคลเสมา, ชานหมากและของอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง โดยนำเอามาบดให้ละเอียดระคนรวมกันผสมน้ำมันตังอิ้วปั้นเป็นแท่ง ทำแม่พิมพ์ประทับเป็นองค์พระพิมพ์รูปต่างๆ เมื่อแห้งสนิทแล้วจึงนำเข้าพิธี พุทธาภิเษก พร้อมด้วยพระอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณมากรูปทำพิธีปลุกเสกคาถากำกับให้พระพิมพ์เหล่านั้นมีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ในทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีบ้าง เป็นเมตตามหานิยมบ้าง เรียกกันว่าพระเครื่องเป็นต้น และที่พระเครื่องทรงความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก็ด้วยอภินิหารของว่านบันดาลช่วยเหลือเกื้อกูลพร้อมทั้งคาถาอาคมที่ประกอบเป็น 2 แรงด้วยกัน โบราณว่า “อิทธิฤทธิ์ของว่านนั้นจะมีคงที่ตลอดไปได้มักเป็นว่านที่ได้ปลูกติดต่อเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคนมาแล้วโดยมาก เพราะผู้ปลูกเหล่านั้นทราบเคล็ดลับของการทำให้ว่านคงทรงอิทธิฤทธิ์อยู่โดยมิเสื่อมคลาย ส่วนว่านที่ขึ้นเองตามป่าเขาโดยธรรมชาตินั้นมักไม่ใคร่มีอิทธิฤทธิ์ทั้ง ๆ เป็นว่านชนิดเดียวกันอย่างเดียวกัน ในการนี้ถึงแม้จะได้นำเอาว่านมาปลูก ถ้ามิได้ระมัดระวัง โดยปล่อยให้ว่านขึ้นและโรยราไปเองตามธรรมชาติ หรือปล่อยให้ว่านคงอยู่ในดินตลอดระยะเวลานานจนกว่าจะถึงฤดูฝนมาใหม่ ว่านก็จะผลิแตกต้นอีก แต่อิทธิฤทธิ์ของว่านนั้นจะจืดจางเสื่อมลงไปทุกที นานๆ หลายฝนเข้าก็หมดฤทธิ์ไปเอง ทั้งนี้เป็นเพราะธาตุสาร (ปรอท) ในตัวว่านลืมต้น คือหนีออกไปจากต้นขณะเมื่อว่านโทรมในฤดูแล้ง ถ้าหากได้กู้ว่านขึ้นจากดินภายในเดือน 12 วันอังคารหรือภายในเดือนอ้ายวันพุธไม่เกินข้างขึ้นอ่อนๆ เสียก่อนแล้ว (อย่าให้ว่านคงอยู่ในดินเลยพ้นถึงฤดูนกกาเหว่าหรือนกยูงร้องหาคู่)จึงจะไม่เสีย ถ้าปล่อยให้หัวว่านคงอยู่เลยกำหนดฤดูนี้ไป ว่านนั้นๆ ก็จะเสื่อมอานุภาพลงไปเรื่อยๆ”