ว่านหมูกลิ้ง
หมูกลิ้ง Stephania venosa [Blume.]
ลักษณะ หัวใหญ่มาก โดยมากไม่ค่อยพบใบ เพราะเมื่อว่านแก่แล้ว ใบแก่ก็ร่วงหมดเหลือแต่หัวผ่าหัวทิ้งไว้จะมีสีเลือดแดงๆ
สรรพคุณ ทางคงกระพัน ว่านชนิดนี้มีอานุภาพคงกระพันชาตรีเป็นยอด เมื่อผู้ใดได้รับประทานก็จะคงทนต่อคมหอกคมดาบ ยุงไม่มีโอกาสได้ตอมเลือดเราเลย แม้เราจะตกจากที่สูงลงมาก็จะไม่มีบาดแผลภายนอกเลย เวลากินเสกด้วย “พุทธังอุด ธัมมังอุด สังฆังอุด อำมะ อำมะ อึมอึฯ” 9 คาบ อีกตำราหนึ่ง เสกด้วย “นะโมพุทธายะฯ” 108 คาบ
หมายเหตุ มีเรื่องเล่าว่า มีนายพรานไปล่าหมูป่า โดยดักยิงอยู่บนที่สูง แล้วเอาหัวพืชชนิดหนึ่งที่ขึ้นเป็นกลุ่มอยู่ใกล้ๆ ที่ซุ่มยิง กลิ้งลงไปข้างล่างเพื่อล่อให้หมูป่ามากิน จนเมื่อหมูป่าหลงกลเข้ามากินหัวพืชที่ล่อไว้ นายพรานก็ยิงหมูป่านั้น แต่กลับยิงหมูป่านั้นไม่ระคายผิวเลย ซึ่งหัวพืชนั้นก็คือ ว่านสบู่เลือดตัวผู้ชนิดที่หัวกลม ตามชื่อในปัจจุบัน เพราะว่านสบู่เลือดตัวผู้จริงๆ ตามตำรานั้นหัวต้องยาวคล้ายหัวมันสำปะหลัง แต่ปัจจุบันจะเรียกรวมกันทั้งหัวยาวและหัวกลมเป็นว่านสบู่เลือดตัวผู้ แต่จริงๆ แล้วถ้าหัวกลมก็เป็นว่านหมูกลิ้งนั่นเอง และเป็นคนละต้นกับว่านสบู่เลือดตัวเมีย เพราะยางสีแดงเข้มดุจเลือด แต่ว่านสบู่เลือดตัวเมียยางจะเป็นสีส้มจางๆ นอกจากเรื่องเล่าดังกล่าวแล้ว ลักษณะหัวว่านดังกล่าวถ้าหัวที่ใหญ่ๆ จะคล้ายกับตัวหมูป่ามากจึงเป็นที่มาของชื่อว่านนี้
พบในตำราของ
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 61
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 113
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 53-54
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 32
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 326
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1007