ว่าน กระบี่ทอง
ชื่อว่าน: ว่านกระบี่ทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์ของว่าน: Curcuma sp.
วงศ์ของว่าน: ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่นๆ: ว่านนางวันทองห้ามทัพ
ลักษณะลำต้น/ราก: ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าทรงรูปไข่ขนาดพอๆกับกระชายและแตกแง่งออกสองข้างแต่มักใหญ่และยาวออกไปเพียงข้างเดียว แง่งจะแทงออกจากเหง้าลงดินและโค้งขึ้นผิวดิน ตำราโบราณว่าโค้งเหมือนมีดดาบ ผิวของหัวว่านเมื่อแก่มีสีน้ำตาลและผิวมัน เนื้อในหัวมีสีเหลืองอ่อน
ใบ: เหมือนขมิ้น มีแถบสีแดงออกน้ำตาลกลางใบ
ดอก: ช่อคล้ายดอกกระเจียว ช่วงล่าง มีสีขาวช่วงบนมีสีชมพู-ขาว ดอกแท้สีเหลือง
สภาวะการปลูก: ดินระบายน้ำดี แดดรำไร ชอบความชื้นในอากาศสูง พักตัวในฤดูแล้ง
การขยายพันธุ์: เหง้า แง่ง หรือแยกหน่อจากต้น
การใช้ประโยชน์:
อมแก้เจ็บคอจากหวัดลงคอ แก้ลิ้นแตก ปากเปื่อย แก้แซง้อ คอตีบ แผลฝีที่ปาก ที่ลำคอ และที่จมูก อีกทั้งบรรเทาโรคเริมได้ ดียิ่ง
ความเชื่อ: ใช้ทางคงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม เป็นว่านที่คนโบราณนิยมใช้ในทางยาเป็นส่วนใหญ่ แม้แพทย์แผนโบราณปัจจุบันนี้ก็ยังใช้เป็นเครื่องยาอยู่เช่นกัน ถ้าต้องการใช้เพื่อแก้โรคปวดท้อง ลงท้อง ให้ใช้หัวว่านสด ๆ โขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาวหรือน้ำปูนใสกรองกินแต่น้ำ แก้ฝีในปาก จมูก ให้ใช้หัวว่านสดฝนกับน้ำปูนใสให้ข้นแล้วป้ายที่หัวฝีจะถอนพิษอักเสบทำให้ฝียุบหาย ถ้ามีอาการไอเจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ต่อมทอลซินอักเสบ ให้ใช้หัวว่านสดบุบพอแตกจุ่มกับเหล้าขาวให้ซึมเล็กน้อยแล้วอมไว้ในปาก จะทำให้ชุ่มคอแก้พิษอักเสบดังกล่าวได้ดียิ่ง
หมายเหตุ: หัวของว่านกระบี่ทองคล้ายกับหัวของว่านม้าเหลืองมาก ให้สังเกตโดยรวมของเหง้าและแง่งว่า ว่านกระบี่ทองจะใหญ่กว่าอีกทั้งแง่งจะยาวกว่า ข้อของแง่งจะถี่กว่า ผิวของหัวมัน และมีสีออกส้มกว่าม้าเหลือง ส่วนรสชาติและกลิ่นคล้ายกัน แต่ม้าเหลืองจะเผ็ดซ่ากว่า อย่างไรก็ ดีถ้าออกดอกจะจำแนกได้ดีที่สุด กระบี่ทองจะออกดอกใกล้ดิน ส่วนม้าเหลืองออกดอกที่ปลายยอดลำต้นเทียม