ว่านพระตะบะ
พระตะบะ Curcuma sp.
ลักษณะ ต้นและใบคล้ายขมิ้นอ้อยแต่ใหญ่กว่า ต้นและใบสีเขียว หลังใบมีคราบคล้ายกับใบลิ้นเสือ หัวเหมือนกับหัวขมิ้นอ้อย เนื้อในสีขาวรสฉุนจัด มีธาตุปรอท มีกิ่งหน่อแตกยาวเกี่ยวกันอยู่
สรรพคุณ ทางคุ้มครอง มีอานุภาพมหัศจรรย์วิเศษสุด ภูติผีปีศาจที่ร้ายกาจทุกชนิดเกรงกลัวยิ่งนัก ปลูกไว้ในบ้าน คุณไสยเสนียดจัญไร พรายน้ำพรายอากาศไม่กล้าเข้ามาใกล้ได้ หลีกหนีสิ้น ใช้หัวทิ่มแทงคนผีเข้าเจ้าสิง หนีออกจากร่างคนทันที
ทางสมุนไพร เอาหัวว่านแช่น้ำมนต์พ่นแก้คุณไสยทุกชนิด และให้คนท้องกินคลอดบุตรง่าย เอาหัวว่านผูกติดกับเปล เด็กนอนไม่สะดุ้ง ว่านนี้ไม่เป็นอันตรายแก่พระภูมิเจ้าที่ เอาเข้าพิธีสวดพานยักษ์ ว่านนี้จะมีความศักดิ์สิทธิ์มีฤทธานุภาพมากยิ่งขึ้นวิเศษนัก
หมายเหตุ ว่านชนิดนี้เรียกหลายชื่อ คือ ว่านพะตะบะ ว่านพระยาตะบะ ว่านพระตบะ
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 38-40
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 22
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 72-73
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 104-105
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 36-37 เรียก ว่านพะตะบะ
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 232-234
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 20-22
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 61
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 990-991 เรียก ว่านพระยาตะบะ