ว่านเสน่ห์จันทน์หอม
เสน่ห์จันทน์หอม Acorus gramineus Sol.
ลักษณะ หัวเหมือนเปราะหอม ใบเหมือนใบกุยช่าย มีกลิ่นหอมทั้ง ราก หัว ใบ
สรรพคุณ ทางเมตตามหานิยม ปลูกไว้ในบ้านเป็นศิริมงคล มีโชคลาภ เป็นเสน่ห์เมตตามหานิยม
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ ว่านน้ำเล็ก (คนละชนิดกับ ว่านน้ำแดง) ว่านนี้ไม่ใช่ ว่านเปราะหอมหลังใบแดง อย่างเล่นกันในปัจจุบัน
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 21 เรียก ว่านเสน่ห์จันหอม
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 34 เรียก ว่านเสน่ห์จันทร์หอม
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 6
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 402
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1015 เรียก ว่านเสน่ห์จันทร์หอม
ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์ ต้นที่ 2
2. เสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์ Homalomena sp.
ลักษณะ ก้านเหมือนอุตพิต ใบเหมือนใบโพธิ์หน้าใบยาว หน้าใบเขียวมัน ท้องใบขาวนวล ยอดเหมือนพลับพลึง มีกลิ่นหอมมาก ดอกคล้ายจำปีตูม
สรรพคุณ ทางเมตตามหานิยม และทางคงกระพัน ว่านนี้มีอานุภาพมาก ท่านว่าหาค่ามิได้ ถ้าได้พบเป็นสำคัญแน่แล้วอย่าพึ่งขุด ให้ทำกระทงสามมุม ใส่หมาก 3 คำ เบี้ย 3 เบี้ย พลีกรรมเสียก่อน แล้วเสกน้ำด้วย “นะโมพุทธายะฯ” 3-7 คาบ รดให้รอบต้น แล้วประพรมตั้งแต่ยอดลงมาให้ทั่ว แล้วจึงขุดเอาว่านนั้น มาแกะเป็นรูปเบี้ย 5–8 เบี้ย เมื่อจะปลุกเสก ให้ถือศีลนุ่งขาวห่มขาวถือสัจจะ และทำน้ำมนต์ด้วย “อิติปิโส ถึง ภะคะวาติฯ” 1,000 คาบ ชำระตัว 3 วัน ให้หมดมลทินโทษทั้งปวง แล้วจึงเอาเบี้ยนั้นใส่ลงในขัน เอาน้ำมันหอมใส่ลงให้ท่วมเบี้ย เสกด้วย “อิติปิโส ถึง ภะคะวาติฯ” 1,000 คาบ ในพระอุโบสถ ให้มีบายศรีซ้ายขวา เสกไปจนกว่าเบี้ยนั้นจะเดินเวียนทักษิณาวัตร์ไปรอบปากขันนั้นแล้วจึงเอาเถิด เป็นประสิทธิแล ถ้าเอาเบี้ยนั้นไปเล่นการพนันด้วย ท่านว่าการพนันที่เล่นนั้นไม่มีเสียมีแต่ได้เสมอ
ถ้าจะทำเป็นเสน่ห์แก่ชายหญิง ให้แกะเป็นรูปท้าวพระยามหาอำมาตย์ หรือเสนากรมหลวงฝ่ายใน หรือรูปพระสงฆ์ ลงในขันสัมฤทธิ์ แล้วเอาน้ำมันจันทน์ใส่ลง เสกด้วย “อิติปิโส ถึง ภะคะวาติฯ” 1,000 คาบ “นะโมพุทธายะฯ” 1,000 คาบ เสกไปกว่ารูปที่แกะนั้นเวียนทักษิณาวัตร์รอบขันแล้วเอาเถิด ถ้าจะไปที่ใดๆ พึงเอาน้ำมันนั้นทาหน้าผาก ไปหาท้าวพระยาจะรักเราเหมือนบุตร จะปรารถนาสิ่งใดก็สมความปรารถนา ถ้าน้ำมันนั้น หอมได้กลิ่นถึงไหนก็เอ็นดูเราถึงนั้น ทั้งอยู่คงกระพันชาตรีฟันแทงมิเข้า แม้จะจับเราก็ไม่อยู่ ถ้าจะล่องหนหายตัวเอาน้ำมันทาตัวก็หายได้ ถ้าจะให้เป็นจังงัง เชิญรูปนั้นห่อผ้า เอาน้ำมันทากระหม่อมและหน้าผาก บริกรรมด้วย “นะโมพุทธายะฯ” 3-7 คาบ ใครทำร้ายมิได้เลย
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ ศรีมหาโพธิ์ เสน่ห์จันทน์ เสน่ห์จันทน์หอม
พบในตำราของ
ชิตร์ วัฒนะ. ลักษณะว่าน. 2473, หน้า 17-19
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 14-16 เรียก ว่านเสน่ห์จันทร์
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 87
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 16-17 เรียก ว่านเสน่ห์จันทร์
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 399-341
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 30-32 เรียก ว่านเสน่ห์จันทร์
ว่าน เสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์ ต้นที่ 1
เสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์ มี 2 แบบ
1. เสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์ Homalomena lindenii [Rodigas] Lindl.
ลักษณะ ต้น ใบ ก้าน คล้ายว่านเสน่ห์จันทน์ขาว แต่มีสีเขียว โคนใบผายออก ดูคล้ายใบโพธิ์ มีครีบขาวที่กาบใบ มีกลิ่นหอมเหมือนว่านเสน่ห์จันทรน์ขาว
สรรพคุณ ทางเมตตามหานิยม ปลูกไว้กับบ้านหรือร้านค้าขายเป็นศิริมงคล มีโชคลาภ เป็นเมตตามหานิยมวิเศษนัก
หมายเหตุ ว่านต้นนี้เป็นต้นที่กลายพันธุ์มาจากว่านเสน่ห์จันทน์ขาว บางตำราจึงจัดให้เป็นว่านเสน่ห์จันทน์ขาว จุดสังเกตดูที่ครีบขาวที่โคนกาบใบ บางตำราก็จัดเป็น เสน่ห์จันทน์เขียว
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 17-19 เรียก ว่านเสน่ห์จันมหาโพธิ์
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 36 เรียก ว่านเสน่ห์จันทร์มหาโพธิ์
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 2-3
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 33 เรียก ว่านเสน่ห์จันทร์เขียว
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 3 เรียก ว่านเสน่ห์จันทร์มหาโพธิ์
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1014 เรียก ว่านเสน่ห์จันทร์มหาโพธิ์
ว่านเสน่ห์จันทน์ทอง
เสน่ห์จันทน์ทอง Hyllingia sp.
ลักษณะ ต้นและใบเหมือนแห้วหมู สีเขียว แต่ใหญ่กว่าแห้วหมู ดอกมีเกษรสีเหลือง มีกลิ่นหอมเล็กน้อย หัวเหมือนกระเทียมโทน มีกลิ่นหอมเย็นคล้ายไม้จันทน์หอม
สรรพคุณ ทางเมตตามหานิยม ปลูกไว้ในบ้านเป็นศิริมงคล มีความเจริญรุ่งเรือง เป็นเสน่ห์เมตตามหานิยม
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ กกหัวแดง หญ้ากกทราย
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 21 เรียก ว่านเสน่ห์จันทอง
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 5
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 398
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 33 เรียก ว่านเสน่ห์จันทร์ทอง
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 109 เรียก ว่านเสน่ห์จันทร์ทอง
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1015 เรียก ว่านเสน่ห์จันทร์ทอง