ว่านสี่ทิศ
สี่ทิศ Hippeastrum puniceum [Lam.] Urb.
ลักษณะ หัวเหมือนหัวหอม ใบคล้ายว่านน้ำแต่สั้นและใหญ่ ดอกแตกออกจากลำต้น มีกลีบสีแดง ก้านสีเขียว ดอกแยกออกเป็นสี่ทิศ ว่านชนิดนี้มีหลายสี เช่น สีขาว แดง เหลือง เป็นไปตามพื้นที่ภูมิประเทศที่ปลูก
สรรพคุณ ทางศิริมงคล ปลูกไว้ในบ้านเป็นศิริมงคล ป้องกันอันตรายทั้งปวง เอาหัวมาแกะเป็นพระพุทธรูป เสกด้วยพระเจ้า 5 พระองค์ 108 คาบ นำติดตัวไป แคล้วคลาด ป้องกันศาสตราวุธทั้งปวง เป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น
หมายเหตุ ว่านชนิดนี้ น่าจะเป็นชนิดเดียวกับ ว่านสบู่หมึก
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 91
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 59-60
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 32
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 393
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 67 เรียก ว่าน 4 ทิศ
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 80
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1028
ว่านสิบทิศ
สิบทิศ Crinum amoenum Roxb.
ลักษณะ ลำต้นคล้ายว่านแร้งคอคำ แต่ต้นเตี้ยติดดิน ใบเหมือนใบแร้งคอคำแต่เล็กกว่า ดอกเหมือนพลับพลึงแต่กลีบเล็กกว่า บานกระจายเป็นสิบทิศ กลิ่นหอมเย็น
สรรพคุณ ทางมหานิยม ปลูกเป็นว่านเมตตามหานิยม
หมายเหตุ ว่านนี้เป็นตระกูลพลับพลึงป่า เป็นพันธุ์ที่ดอกบานพร้อมกันหมดทั้งช่อ
พบในตำราของ
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 79
ว่านสิงหะโมรา
สิงหะโมรา Cyrtosperma johnstoni N.E.Br.
ลักษณะ ต้น ใบ คล้ายผักหนาม เมื่อต้นปลูกไว้นานเข้า ต้นจะสูงท่วมหัว ใบและลำต้นมีหนาม สำต้นสีแดงเรื่อๆ หัวแข็งสีเรื่อ ชนิดนี้เป็น สิงหะโมราตัวผู้ ถ้าเป็นสีเขียวทั้งต้น ชนิดนี้เป็น สิงหะโมราตัวเมีย เอาหัวมาดองกับน้ำสุราจะออกเป็นน้ำสีแดงจัด
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ใช้เป็นยารักษาโรค เอาหัวดองกับสุรากิน แก้เลือดทำ ชักมดลูก แก้ริดสีดวง แก้ผอมแห้งแรงน้อย แก้หญิงคลอดบุตรอยู่ไฟไม่ได้ ว่านนี้เป็นยาร้อน กินแก้โรคบาดทะยักปากมดลูก คนเป็นไข้ห้ามกิน หญิงมีครรภ์ห้ามกิน
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ สิงห์โมรา ผักหนามแดง ผักหนามฝรั่ง นอกจากนั้นชนิดต้นสีแดงแล้ว ยังมีชนิดที่ต้นเป็นสีเขียวล้วนด้วย สรรพคุณเหมือนกัน แต่อ่อนกว่าชนิดต้นแดง
พบในตำราของ
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 38
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 102-103
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 77-78
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 51-52
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 391-392
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 33-34 เรียก ว่านสิงหโมราตัวผู้, หน้า 34 ว่านสิงหโมราตัวเมีย
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1022
ว่านสาวหลง
สาวหลง Amomum biflorum Jack.
ลักษณะ หัวเหมือนหัวตะไคร้ รากเหมือนรากหญ้าคา ใบเหมือนข่า แต่ปลายใบนั้นแหลมดังมีดชายธง ออกดอกเป็นพวงเหมือนช่อพริกไทย สีเหลืองมีกลิ่นหอมมาก มีกลิ่นหอมทั้งราก ต้น และใบ ว่านนี้มี 2 ชนิด คือ ต้นเขียว และต้นแดง
สรรพคุณ ทางเมตตามหานิยม ปลูกไว้กับบ้านเป็นศิริมงคล มีเสน่ห์เมตตามหานิยม ว่านชนิดนี้ใช้ ราก หัว ต้น ใบ ดอก อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเอาทั้งหมดมาบดเป็นผงผสมกับน้ำมันหอม น้ำมันจันทน์ หรือขี้ผึ้ง นำติดตัวไป ทำให้คนทั้งหลายหลงงงงวย รักใคร่เมตตาสงสาร เป็นยอดมหานิยม ให้ปลุกเสกด้วยคาถาดังนี้ “นะมะอะอุ พุทธะสังมิ จิเจรุนิ นะชาลิติ เอหิติตตัง ปิยังมะมะฯ” เมื่อทำการปลุกเสกให้ตั้งจิตอธิษฐานตามความปรารถนา แล้วจึงปลุกเสก 7 คาบ
เมื่อจะปลูกว่านนี้ให้ปลูกเฉพาะวันจันทร์วันเดียว เอาเศษใบไม้เผาไฟ ผสมกับดินปนทรายตากน้ำค้างไว้หนึ่งคืน จึงเอาดินเทใส่กระถาง เอาหัวว่านวางตรงกลางกระถาง เอาดินกลบหัวว่านอีก พอให้ดินพ้นหัวว่าน แล้วรดน้ำเสกด้วยพระพุทธคุณ 3 คาบ
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ ว่านฤาษีผสม ว่านฤาษีสร้าง เร่วหอม ว่านชนิดนี้จริงๆ แล้วจะออกดอกเป็นไหลแทงขึ้นจากดินข้างลำต้น มีกลิ่นหอมมาก
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 136-138
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 1-2
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 389-390
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 47
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1018-1019