ว่านสรรพการ
สรรพการ Boesenbergia sp.
ลักษณะ หัวเหมือนหัวขมิ้น ก้านและใบเหมือนกระชาย แต่ใบจะออกขาว
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ใช้เป็นยาประจำบ้าน ใช้หัวกินเกี่ยวกับธาตุพิการต่างๆ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว
หมายเหตุ ว่านนี้มีอีกชื่อว่า ว่านสรรพกร ผู้เขียนคิดว่าว่านชนิดนี้น่าจะเป็น กระชายป่าดอกสีขาว ใบจะเป็นสีเขียวอ่อน มีคราบนวลที่หน้าใบ กระโปกสั้นกว่ากระชายเหลืองมาก มีดอกสีขาว เนื้อในหัวสีเหลืองออกขาว
พบในตำราของ
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 62
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 113-114 เรียก ว่านสรรพกร
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 49-50
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 365
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1020
ว่านสมอ
สมอ Homalomena sp.
ลักษณะ ต้นคล้ายลำเจียกหรือต้นเตย ใบเหมือนใบละหุ่ง หัวเหมือนหัวกระทือ กลิ่นหอมเย็นเหมือนกลิ่นเจตมูลเพลิง
สรรพคุณ ทางเล่นแร่แปรธาตุ เป็นยาฆ่าปรอทตาย เอาหัวมาผสมกวนกับปรอททำให้ปรอทแข็งตัว เป็นกายสิทธิ์ หรือเอารากหนัก 1 บาท ปรอทหนัก 1 บาท ใส่ขวดแล้วเอาดินพอก สุมไฟแกลบไว้ 3 วัน ปรอทนั้นตาย
หมายเหตุ ว่านชนิดนี้ น่าจะเป็นเสน่ห์จันทน์ป่าชนิดหนึ่ง คุณลุงเกษม อินทร์ชัยญะ เล่าความเชื่อของคนสมัยก่อนให้ฟังว่า บอนส้ม (พืชตระกูลเดียวกับเสน่ห์จันทน์) ที่ขึ้นในถ้ำตรงบริเวณปากถ้ำที่มีน้ำไหลผ่าน ถ้าน้ำหัวมาฝนกับโลหะจะกลายเป็นเงิน ผู้เขียนคิดว่า บอนส้ม ที่ว่านี้ น่าจะเป็นต้นเดียวกับ ว่านสมอ
พบในตำราของ
ชิตร์ วัฒนะ. ลักษณะว่าน. 2473, หน้า 9
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 26
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 48
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 89
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 32
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 124-125
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 64-65
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 364
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 29
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1020
ว่านสดุ้ง
สดุ้ง Mimosa pudica Linnaeus.
ลักษณะ ก้านสีเหลืองแก่ค่อนข้างแดง ใบเขียว ดอกแดง เมื่อต้นงอกขึ้น เจริญงอกงามขึ้นขวางพระอาทิตย์ เงานั้นจะเลื่อนติดกันไป
สรรพคุณ ทางศิริมงคล และทางคุ้มครอง ปลูกไว้กับบ้านเป็นศิริมงคล ป้องกันภัยพิบัติอันตรายต่างๆ ถ้าจะขุดหัวว่าน ท่านให้พลีเอาและอธิษฐานตามใจชอบ เอาหัวมาแกะเป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร มือขวาลง “ติ” มือซ้ายลง ”นะ” ริมปากขวาลง “ทะ” ริมปากซ้ายลง “ริ” หน้าผากลง “สิ” หน้าอกลง “ระ” ท้องลง “อุ” เท้าขวาลง “ยะ” เท้าซ้ายลง “กะ”
เมื่อลงอักขระครบถ้วนแล้ว เอาพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรนี้ ตั้นบนพานยืนหันหน้าออก จัดเครื่องสักการะบูชาให้ครบถ้วน ปลุกเสกด้วยคาถานี้ “อะตะชิวะ มะมะจะ นิทิพิโน ปะรายันติฯ” ปลุกเสก 108 คาบ จะไปในที่ใด ให้นำติดตัวไปด้วย คุ้มครองป้องกันอุบัติเหตุอันตรายต่างๆ แคล้วคลาด บูชาไว้กับบ้านเป็นศิริมงคล คุ้มครองป้องกันภัยพิบัติอันตรายทั้งปวง
หมายเหตุ บางตำราเขียนว่า ว่านสะดุ้ง ว่านชนิดนี้ น่าจะเป็น ต้นไวยราบ หรือ ไมยราบ เนื่องจากเป็นพืชที่ไว้ต่อการสัมผัส เมื่อไปสัมผัสโดนเข้า จะหุบใบทันที คล้ายอาการสะดุ้ง
พบในตำราของ
ชิตร์ วัฒนะ. ลักษณะว่าน. 2473, หน้า 4-5
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 23-24
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 89
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 29-30
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 363
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 27-28
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1029
ว่านเศรษฐีแขก
เศรษฐีแขก Echinocactus qrusonii.
ลักษณะ ลำต้นเป็นรูปกระบอกใหญ่และหนาแบบกระบองเพชร มีเป็นกลีบเป็นสันเป็นปีกแข็งแรง ตั้งเป็นแนวขึ้นเป็นแถว ตอนปลายปกคลุมด้วยขนอ่อน รอบหัวจุกข้างบนมีหนามมาก มีดอกเป็นสีเหลืองชูขึ้นตรงๆ คล้ายหัวจุกสับปะรด ยอดดอกมักจะขมและฝาดจัด ผลกลมยาวมีขนขาวๆ คลุมทั่วผล เมล็ดสีดำเป็นมัน ไม่มีใบ
สรรพคุณ ทางเสี่ยงทายโชคลาภ ปลูกเป็นไม้ประดับ ถ้ามีดอกจะนำโชคมาสู่เจ้าของ
หมายเหตุ ว่านนี้เป็นแคสตัลชนิดหนึ่ง ชื่อว่า ถังทอง
พบในตำราของ
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 362