ว่านมหากาฬ
มหากาฬ Gynura pseudochina [L.] DC. var. hispida Thwaites
ลักษณะ ต้นขึ้นเป็นกิ่งเหมือนต้นไม้ ใบเหมือนใบผักกาด แต่เป็นหยักๆ ถ้าใบออกใหม่ๆ จะเป็นสีม่วงแก่ ตามก้านและขอบใบสีเขียว ถ้าแก่จะกลายเป็นสีขาว ว่านนี้มีหลายพันธุ์ เช่น เขียวล้วน ม่วงเรื่อๆ ม่วงเข้ม เป็นต้น
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ใบสดๆ โขลกกับสุราปิดพอกฝี หรือลำมะลอก ทำให้เย็นและหายปวด เป็นยาเย็นใช้พอกบาดแผลถอนพิษอาการปวดอักเสบ แก้ปวดแสบปวดร้อน หัวกินดับพิษกาฬ แก้พิษไข้เซื่อมซึมกระสับกระส่าย
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ ผักกาดกบ หนาดแห้ง คำโคก ผักกาดนกเขา อังตังปึง
พบในตำราของ
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 50
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 60-61
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 63-64
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 56
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 304-305
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 39
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 86
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1004-1005
ว่านมหาหมอก
3. หมอก Curcuma flaviflora S.Q.Tong
ลักษณะ ต้น หัว ใบ เหมือนขมิ้นทุกอย่าง แตกต่างที่เนื้อในหัวเป็นสีขาว กลิ่นฉุนร้อน ว่านหมอกกับว่านงูเห่าคล้ายกันมาก แต่กลิ่นนั้นไม่เหมือนกัน ว่านงูเห่านั้นกลิ่นคล้ายกลิ่นน้ำมันผสมยางมะตอย แต่ว่านหมอกหัวนั้นมีกลิ่นฉุนร้อนจัด
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ใช้เป็นยาแก้ถูกอสรพิษทุกชนิดขบกัด เอาหัวและก้านมาตำให้ละเอียดผสมกับสุราคั้นเอาน้ำให้กินแก้ แล้วเอากากพอกปากแผลแก้พิษได้ดีนัก
หมายเหตุ ว่านนี้มีอีกชื่อหนึ่ง คือ ว่านมหาหมอก
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 30
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 36
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 93-94
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 31 เรียก ว่านมหาหมอก
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 301
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 36
ว่านพระยาหมอก ต้นที่ 2
2. พระยาหมอก Crinum latifolium Linn.
ลักษณะ ต้นและใบดุจพลับพลึง สีเขียวแก่ หัวเหมือนหอมหัวใหญ่ เนื้อในสีขาว ดอกดังข่าสีแดง
สรรพคุณ ทางคุ้มครอง ปลูกไว้กับบ้านรดน้ำ เสกด้วยพระเจ้า 5 พระองค์ เป็นศิริมงคลป้องกันภูติผีปีศาจ เสนียดจัญไร เอาว่านหมอกนี้มาแกะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปลุกเสกด้วย “พระอิติปิโส ธงชัยฯ” 3 คาบ ประดิษฐานไว้สักการะบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนทุกวัน มีความเจริญรุ่งเรือง ปราศจากภัยพิบัติอันตรายต่างๆ ทุกประการ
หมายเหตุ ว่านชนิดนี้คล้าย ว่านสบู่หยวก มาก ต่างกันที่ ว่านพระยาหมอก กลีบดอกจะย่น แต่ ว่านสบู่หยวก กลีบดอกจะเรียบ
พบในตำราของ
ชิตร์ วัฒนะ. ลักษณะว่าน. 2473, หน้า 7
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 20
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 66
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 82
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 27-28
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 34 เรียก ว่านหมอก
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 31
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 255-256
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 10
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1000
ว่านพระยาหมอก ต้นที่ 1
หมอก มี 3 แบบ
1. พระยาหมอก Curcuma aeruginosa Roxb.
ลักษณะ ต้นและใบคล้ายกับว่านมหาเมฆ มีใบสีเขียวก้านกลม ดอกดังข่าสีแดง หัวคล้ายกับว่านมหาเมฆ ต้นสูงราววาเศษถึงสองวา
สรรพคุณ ทางคงกระพันชาตรี เวลาขุดเอาว่านนี้ต้องแต่งเครื่องสักการะ คือกระทงใส่ข้าวตอกดอกไม้ กุ้งพล่าปลายำพลีจงดี แล้วจึงขุดเอาหัวว่านมาแกะเป็นรูปภควัมนั่งขัดสมาธิ มือบนซ้ายขวาปิดหู มือขวาต่ำปิดตา มือซ้ายต่ำปิดปาก แกะแล้วเอาอักขระ “อิทิ” ลงหน้าผาก “อะงะทิ” ลงแก้มซ้าย “อิทิอะวะงะระ” ลงหน้าอก “อันเย” ลงมือขวาข้างๆ “สาชิ” ลงเท้าข้างๆ “อิทิโอ” ลงหลัง “นะสัตกะเช” ลงที่นั่ง ลงอักขระตามนี้แล้ว นับว่าเสร็จใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่าง โดยเฉพาะทางคงกระพันชาตรี
หมายเหตุ ว่านพระยาหมอก ชนิดนี้คล้ายกับ ว่านมหาเมฆ มาก ซึ่งมีข้อแตกต่างคือ เมื่อผ่าหัวกลางตามยาว จะเห็นสีม่วงอยู่ล่างของหัวสีเหลืองนวลจะอยู่ข้างบน แต่ ว่านมหาเมฆ สีม่วงจะอยู่ด้านบน และสีเหลืองนวลจะอยู่ข้างล่าง
พบในตำราของ
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 17-18