ว่านพระยาแร้งแค้น
พระยาแร้งแค้น Blumea balsamifera DC.
ลักษณะ ต้นเหมือนต้นผักกาดน้ำ ใบเป็นจักๆ ละเอียดกว่าใบผักกาดน้ำ ครีบและก้านแดง ท้องใบและหลังใบสีขาว ดอกสีเหลือง กลิ่นเหมือนกลิ่นกระเทียม
สรรพคุณ ทางเล่นแร่แปรธาตุ ใช้เป็นยาฆ่าปรอทตายเป็นกายสิทธิ์ ให้เอาว่านมาโขลกคั้นเอากากกวนกับปรอท แช่อยู่ 7 วันปรอทนั้นตาย ถ้าจะทำให้มีฤทธิ์มากยิ่งขึ้น ให้เอาปรอทที่ตายนี้แช่น้ำกระทือ แช่น้ำมะพร้าว แช่น้ำนมโค แช่น้ำผึ้ง อย่างละ 7 วัน ปรอทที่ตายนั้นเป็นกายสิทธิ์วิเศษนัก
อีกประการหนึ่ง ให้เอาว่านพระยาแร้งแค้น 1 ส่วน ว่านเพชรสังฆาต 1 ส่วน ยางสลัดได 1 ส่วน หญ้าจูบจาม 1 ส่วน เอายาทั้งหมดนี้โขลกให้ละเอียด กวนเข้ากับปรอท ปรอทนั้นจะตายเป็นกายสิทธิ์ เอาตะกั่ว 4 ตำลึง หลอมให้ละลาย เอากากผงนี้ซัด พอแห้งแล้วเอาปรอทที่ตายแล้วซัดซ้ำลงไป ตะกั่วนั้นจะกลายเป็นเงินบริสุทธิ์
หมายเหตุ ว่านนี้บางทีก็เรียกว่า ว่านพระยาแร้นแค้น ว่านชนิดนี้น่าจะเป็น ต้นหนาดใหญ่
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 27
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 83
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 32
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 79-80
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 20-22
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 65 เรียก ว่านพระยาแร้นแค้น
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 261-262
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 12
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 987 เรียก ว่านพระยาแร้นแค้น
ว่านพระยาริดตีนปู
พระยาริดตีนปู Tradescantia zebrine Loudon.
ลักษณะ ต้นเป็นเถาว์ ที่เถาว์เป็นข้อๆ มีใบตามข้อ ข้อละ 4 ใบ ใบเล็กเท่าตีนปู
สรรพคุณ ทางเล่นแร่แปรธาตุ ใช้เป็นยาฆ่าปรอทตายเป็นกายสิทธิ์
หมายเหตุ ว่านนี้ปัจจุบันเรียกกันว่า ก้ามปูหลุด
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 28
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 83
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 33
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 78-79
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 20
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 260
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 12-13
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 986
ว่านพระยาลิ้นงู
พระยาลิ้นงู Hyacinthus sp.
ลักษณะ หัวคล้ายหัวหอม ใบคล้ายกระเทียมแต่ยาวกว่า ใบสีน้ำตาล หัวสีเขียวอ่อน มีกาบเป็นเกล็ดๆ ขึ้นเป็นชั้นๆ แต่กาบแข็งกว่ากาบหัวหอม
สรรพคุณ ทางสมุนไพร มีอานุภาพป้องกันสารพัดพิษ เอาหัวว่านนำติดตัวไปงูและตะขาบอ้าปากไม่ขึ้น ปลูกไว้กับบ้านงูไม่เข้าบ้าน ถ้าถูกงูหรือตะขาบกัด เอาหัวฝนกับน้ำมะนาวทาแผล พิษร้ายจะหายทันที
หมายเหตุ ว่านนี้บางทีเรียกว่า ว่านเขี้ยวงู ว่านพญาลิ้นงู ว่านชนิดนี้ น่าจะเป็นชนิดเดียวกับกับ ว่านจั๊กจั่น และ ว่านตะเภาน้อย
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 78
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 117-118
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 32 เรียก ว่านพญาลิ้นงู
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 259
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 11-12
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 89 เรียก ว่านเขี้ยวงู
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 987
ว่านพระยามือเหล็ก
พระยามือเหล็ก Zingiber zerumbet [L.] Sm.
ลักษณะ หัวเป็นเหง้ายาว ต้นเหมือนต้นไพล(กระทือ) ใบเหมือนใบขมิ้นแต่เล็กกว่า ครีบใบขาว กลิ่นฉุนร้อนแรงมาก
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ใช้เป็นยารักษาโรคอัมพาต และโรคปราบ ใช้หัวตำพอกบริเวณที่เจ็บปวด จะหายในที่สุด
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 78
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 258
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 988