ว่านพังพอนไฟ
พังพอนไฟ Hyacinthus sp.
ลักษณะ ต้นและใบเหมือนกุยช่าย หัวเหมือนหัวหอม คล้ายกับว่านหอมดำ แต่หัวใหญ่กว่า
สรรพคุณ ทางสมุนไพร เป็นยาแก้พิษสัตว์กัดทุกชนิด เอาหัวโขลกผสมกับสุรากิน และเอากากพอกแผลที่ถูกสัตว์กัดต่อย ไม่มีสุราใช้น้ำแทนก็ได้ (บางตำราบอก แก้พิษงูได้ด้วย สรรพคุณตามชื่อ พังพอนไฟ)
หมายเหตุ ผู้เขียนคิดว่าว่านนี้น่าจะเป็นต้นเดียวกับ พระยาลิ้นงู ที่หัวใหญ่ๆ อาจจะใหญ่ถึงขนาดกำปั้นได้
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 21-22, หน้า 134
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 59-60
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 223
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 992
ว่านพังพอน
พังพอน Tacca chantrieri Andre`
ลักษณะ ใบรูปหอกรีๆ ยาวเสี้ยมแหลม ก้นใบมนๆ หรือป้านจรดก้านใบไม่เท่ากัน ขึ้นเป็นกอเหง้าอวบ ช่อดอกสั้นกว่าใบ มีประมาณ 20 ดอก ดอกสีม่วงดำ ระหว่างดอกมีหนวดยาวๆ สีม่วงดำมากเส้น กลีบรองช่อดอกมี 4 กลีบ สองกลีบนอกสีม่วงดำขนาดใหญ่รูปไข่รีปลายเสี้ยมแหลม กลีบในสีม่วงดำขนาดเล็กกว่ากลีบนอก รูปหน้าจั่วเบี้ยวๆ ก้นเว้าลึก โดยภาพรวมของดอกดูคล้ายๆ ค้างคางกางปีกสีม่วงดำ
สรรพคุณ ทางสมุนไพร เหง้าเข้ายาแก้ทรางเด็ก แก้ไข้ แก้ลิ้นคอเปื่อย แก้ไอ แก้ปวด เข้ายาเจริญอาหาร และรักษาธาตุพิการ เป็นยาสำหรับสัตว์ พวกม้าและช้างกิน ทำให้อ้วน และป้องกันโรคสัตว์ต่างๆ ได้ ใช้เหง้าดองสุรากินเป็นยาบำรุงกำลัง บางท้องถิ่น ใช้แก้พิษงูด้วย
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ ดีงูหว้า ค้างคาวดำ ว่านนางครวญ เนระภูสี
พบในตำราของ
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 221-222
ว่านเผาะแผะ
เผาะแผะ Kalanchoe pinnata [Lam.] pers.
ลักษณะ ใบยาวรีหนา ริมขอบใบสีแดงเป็นจักรรอบๆ ใบ ลำต้นขอบแข็ง ออกดอกชูก้านขึ้น มีลูกกลมยาวสีแดงเรื่อๆ ภายในพองมีลมอยู่ข้างใน เมื่อใบแก่จะร่วงหล่นลงมา ถ้าคว่ำก็จะเหี่ยวแห้งไป ถ้าหงายก็จะออกราก แตกเป็นต้นใหม่ขึ้นมาอีก
สรรพคุณ ทางสมุนไพร เอาใบมาโขลกให้ละเอียดมีเมือกพอกแก้ฝีทุกชนิด แก้อักเสบฟกช้ำบวม คั้นเอาน้ำจากใบผสมกับการบูร ทาทูนวดแก้เคล็ดยอก แก้กล้ามเนื้ออักเสบ
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ ว่านไฟฆ้องสามย่าน คว่ำตายหงายเป็น ว่านนิลพัตร
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 94
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 981
ว่านผักปลัง
ผักปลัง Talinum paniculatum Gaerth.
ลักษณะ ต้นเหมือนต้นมะเดื่อ ใบเหมือนลำเจียก ลูกและดอกเหมือนผักบุ้งบานแย้มเล็กน้อย ดอกไม่ค่อยใหญ่ รากเหมือนรากบัว ยางสีขาวเหมือนน้ำนม
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ใช้กินเป็นยารักษาโรคต่างๆ หายสิ้น กินเป็นยาอายุวัฒนะไม่มีโรคาพยาธิเบียดเบียน ผู้กินจะทรงความเป็นหนุ่มสาวตลอดกาลไม่แก่เฒ่า เป็นกายสิทธิ์ อายุยืนนาน
ทางคุ้มครอง นอกจากนี้ยังมีคุณในทางป้องกันอันตรายจากคุณไสยและคุณเวทย์วิทยาต่างๆ ให้เอาต้นว่านนี้ตำให้ละเอียดผสมกับแป้ง เสกด้วย พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ 108 คาบ พอกตรงที่ถูกของ
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ ว่านผักปัง โสมคน โสมเกาหลี
พบในตำราของ
ชิตร์ วัฒนะ. ลักษณะว่าน. 2473, หน้า 9
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 26
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 17-18
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 81
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 31
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 123
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 75-76
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 217
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 43
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 980