ว่านห้าร้อยนาง
ห้าร้อยนาง Curcuma sp.
ลักษณะ ต้นและใบคล้ายขมิ้น ครีบใบสีขาวเป็นริ้วนิดหน่อย หัวเป็นแง่งเล็กๆ ซ้อนกันเป็นชั้นๆ มากกว่าว่านทั่วไป
สรรพคุณ ทางสมุนไพร หัวว่านเป็นยาแก้เบื่อเมา และยาเบื่อยาพิษทุกขนิด เอาหัวว่านนี้ฝนกับน้ำซาวข้าวหรือสุรากิน
ทางเมตตามหานิยม และทางคงกระพัน ถ้าจะให้ว่านนี้มีอานุภาพทางเสน่ห์เมตตามหานิยม หรือคงกระพันชาตรี ให้เอาหัวว่านหรือดอกว่านบดผสมกับน้ำมันหอม น้ำมันจันทน์ และขี้ผึ้ง ปลุกเสกด้วยคาถานี้ “พุทธะสังมิ อิกะวิติ จะภะกะสะ นะมะอะอุ นะมะพะทะ นะโมพุทธายะฯ” 108 คาบ เมื่อจะไปในที่แห่งใดให้เอาขี้ผึ้งที่ปลุกเสกนี้นำติดตัว หรือเจิมหน้า ทาคิ้ว สีปาก เป็นมหาเสน่ห์วิเศษนัก และป้องกันภัยอันตรายทั้งปวง อยู่คงกระพันชาตรี
หมายเหตุ ว่านต้นนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม จังหวัดกรุงเทพมหานคร
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 139
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 14
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 429
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 24
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1034
ว่านหัวน่วม ต้นที่ 2
2. หัวน่วม Typhonium sp.
ลักษณะ หัวเหมือนหัวหอมใหญ่ ก้านสีเขียวเหมือนก้านอุตพิต แต่ใบกลมสีเขียวจัด
สรรพคุณ ทางคงกระพัน เอาหัวว่านนี้กิน เสกด้วยพระเจ้า 5 พระองค์ 3 คาบ เมื่อกินจะรู้สึกซู่ซ่าไปทั่วทุกขุมขน คงกระพันชาตรี ถือติดตัวป้องกันอาวุธทั้งปวง
บางตำรา ให้ใช้หัวติดตัวเท่านั้น กระบองขวากหนามเขี้ยวงา รับรองอยู่คงเด็ดขาด แต่เมื่อมีว่านนี้อยู่กับตัวอย่าไปกัดเชือกหรือเถาใดๆ เป็นอันขาด จะทำให้เข็ดเขี้ยว
หมายเหตุ ว่านชนิดนี้ น่าจะเป็นต้นเดียวกับ ว่านนิลพัตร์
พบในตำราของ
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 45-46
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 61-62 เรียก ว่านหัวน่วม อีกชนิด
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1032 เรียก ว่านหัวน่วม อีกชนิด
ว่านหัวน่วม ต้นที่ 1
หัวน่วม มี 2 แบบ
1. หัวน่วม Gynura pseudochina [L.] DC. var. hispida Thwaites
ลักษณะ ใบคล้ายใบผักกาด ใบสีเขียวกว่าใบไม้ทั้งปวง จักเว้าเข้าไปกลางใบ มากบ้างน้อยบ้างไม่เท่ากัน ขอบใบเป็นสีม่วงอ่อนๆ หัวกลมๆ ยาวๆ ดอกมีสีเหลืองเล็กๆ คล้ายดอกดาวเรืองเป็นก้านชูขึ้นมาจากหัว คล้ายว่านมหากาฬ หัวเมื่อขุดขึ้นมากจากดิน ทิ้งไว้ 5-6 วันหัวจะนิ่มเหมือนกำลังฝ่อ มี 2 ชนิด คือ เนื้อในหัวสีขาว และเนื้อในหัวสีแดง
สรรพคุณ ทางคงกระพัน เอาหัวว่านนี้กิน เสกด้วยพระเจ้า 5 พระองค์ 3 คาบ เมื่อกินจะรู้สึกซู่ซ่าไปทั่วทุกขุมขน คงกระพันชาตรี ถือติดตัวป้องกันอาวุธทั้งปวง
บางตำรา ให้ใช้หัวติดตัวเท่านั้น กระบองขวากหนามเขี้ยวงา รับรองอยู่คงเด็ดขาด แต่เมื่อมีว่านนี้อยู่กับตัวอย่าไปกัดเชือกหรือเถาใดๆ เป็นอันขาด จะทำให้เข็ดเขี้ยว
หมายเหตุ ว่านนี้มีอีกชื่อว่า ว่านแจง
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 34
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 61
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 57
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 427-428
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 38-39
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 88
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1032
ว่านหอยแครง
หอยแครง Tradescantia spathacea Sw.
ลักษณะ ใบแข็งยาวปลายแหลมคล้ายต้นมะลิลา แต่เล็กกว่ากันมาก หน้าใบสีเขียวแก่ หลังใบสีม่วงแดงเข้ม ดอกเป็นกระเปาะเหมือนฝาหอยแครงสองฝา สีม่วงแดง เกษรข้างในสีขาวยื่นออกมาจากข้างในฝา ฝาสามารถปิดเปิดได้คล้ายพวกพันธุ์ไม้จับแมลง
สรรพคุณ ทางสมุนไพร เอาใบว่านนี้สดๆ สามใบ ต้มกับน้ำตาลกรวดพอหวานปะแล่ม น้ำที่ต้มจะเป็นสีแดงคล้ายน้ำด่างทับทิม กินเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ฟกช้ำในจากการพลัดตกหกล้ม ถูกชก ตี ต่อย เตะ ตกจากที่สูง แก้โรคตาทุกชนิด หรือเอาใบสดๆ มาโขลกคั้นเอาน้ำแทรกพิมเสน 1-2 เกล็ด ใช้หยอดตา แก้ตาต้อ ตาช้ำ ตามัว ตาเจ็บ ตาแดง หาย
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ ว่านกาบหอย ว่านกาบหอยแครง
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 138-139
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 426
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1033