ว่านหนุมานทรงเครื่อง
หนุมานทรงเครื่อง Musa acuminate Colla.
ลักษณะ ต้นและใบเหมือนต้นกล้วย แต่มีขนาดเล็กเท่ากับต้นอ้อย
สรรพคุณ ทางสมุนไพร และทางคงกระพัน ใช้หัวตำกินกับน้ำผึ้งกินเป็นยาบำรุงกำลัง แก้พิษ และแก้ปวดทุกชนิด และหัวกินอยู่คงกระพันชาตรีอีกด้วย
หมายเหตุ ว่านชนิดนี้ น่าจะเป็น ต้นกล้วยหม่น ซึ่งเป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่ง
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 27
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 48
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 421
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1032
ว่านหนุมานตกแท่น
หนุมานตกแท่น Alocasia sp.
ลักษณะ หัวเหมือนหัวเผือกหอม มีข้อเป็นข้อๆ (บางตำราว่า หัวกลมต่อกันเป็นชั้นๆ) ที่หัวเมื่อผ่าเนื้อออกมามีสีขาวคล้ายเผือกเป็นปล้องๆ รสคันจัด ใบคล้ายใบละหุ่ง ดอกแดง กลางต้นโป่งออกมา
สรรพคุณ ทางคงกระพัน เป็นว่านอยู่คงกระพันอย่างยอดเยี่ยม ให้เอาหัวว่านนี้มาตำให้ละเอียดแล้วยัดใส่ในกล้วยน้ำว้า ขนาดชิ้นละคำพอกลืนได้สะดวก ระวังผงว่านอย่าให้เปื้อนเนื้อกล้วยภายนอก เพราะว่านนี้คันมาก ว่านนี้มีคุณทางเหนียวอย่างเลิศ ถ้าไม่กลัวฤทธิ์คันของว่านนี้ ก็ตำกินกับสุราได้
หมายเหตุ ว่านนี้มีอีกชื่อ คือ ว่านหนุมาน ว่านหนุมานนั่งแท่น ว่านเฒ่าตกแท่น ว่านเฒ่าตกเตียง
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 42 เรียก ว่านหนุมาน
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 26
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 106, หน้า 121-122 เรียก ว่านหนุมานนั่งแท่น
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 48 เรียก ว่านหนุมานนั่งแท่น อีกชนิด
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 420
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1031
ว่านหนุมาน
หนุมาน Jatropha podagrica Hook.f.
ลักษณะ ต้นเหมือนหมากผู้หมากเมีย ใบคล้ายใบตำลึงแต่ใหญ่กว่า ก้านเขียว ครีบใบแดง ท้องใบเป็นขน หลังใบเขียวเป็นมันจนคล้ายเป็นประกายเมื่อถูกแสงแดด ยอดแดง มีดอกออกมาสีแดงเป็นพวง หัวเหมือนหัวลิง
สรรพคุณ ทางคงกระพัน ว่านหนุมานนี้มีอานุภาพมาก ตีค่าราคาแสนตำลึงทอง เมื่อจะขุดเอาหัวว่านนี้ ให้เสกน้ำด้วยคาถา “สัพพาสีฯ” 7 คาบ รดต้นและประพรมรอบๆ ต้นเมื่อขุดเอาหัวว่านขึ้นมา ให้ปลุกเสกด้วยคาถาหนุมานแผลงฤทธิ์ 108 คาบ ว่าดังนี้ “หะ นุ มะ นะ อา นุ ภา เว นะ โส ธา ยะฯ”
เอาหัวว่านหนุมานมากิน และทาตามตัวมีกำลังมาก หลบหลีกใช้ยุทธวิธีการต่อสู้ว่องไวดีนัก มีดพร้าหลาวแหลน หอก ฟันแทงไม่เข้า แม้จะเอาพะเนินเหล็กมาตี เอาก้อนศิลามาทุ่ม ก็ไม่เป็นอันตรายแก่ร่างกาย อยู่คงกระพันชาตรี
ท่านให้เอาหัวว่านนี้มาแกะเป็นรูปหนุมานแผลงฤทธิ์มีสี่กร ด้านขวามี 2 มือ ข้างบนถือสังข์ ข้างล่างถือกงจักร ด้านซ้ายมี 2 มือ ข้างบนถือพระขรรค์ ข้างล่างถือตรี แสดงอาการเหาะบนเมฆา อ้าปากหาวเป็นดาวเป็นเดือน นำมาทำพิธีปลุกเสกด้วย “พระอิติปิโสธงชัยฯ” 108 คาบ ก่อนจะเข้าพิธีปลุกเสก ให้เอารูปหนุมานแผลงฤทธิ์ใส่ภาชนะ เอาน้ำมันหอม น้ำมันจันทน์ชโลมสรง แช่มิดหัวหนุมาน ตั้งจิตอธิฐาน ขอให้วายุบุตรเทพเทวา มีเดชานุภาพอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาร์มหัศจรรย์ ช่วยอภิบาลอภิรักษ์ข้าพเจ้าทุกทิวาราตรีกาล แล้วจึงทำพิธีปลุกเสกบริกรรมด้วยคาถา “อิติปิโสธงชัยฯ” 108 คาบ หรือปลุกเสกบริกรรมไปจนกว่าหนุมานจะโผล่ลอยขึ้นมาบนผิวน้ำมัน สำแดงเดชวนเวียนทักษิณาวรรต รอบในภาชนะนั้น จึงถือว่าการทำพิธีปลุกเสกบริกรรมสัมฤทธิ์ผล เป็นที่ประจักษ์แห่งฤทธานุภาพความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์
ทางเมตตามหานิยม และทางคุ้มครอง รูปหนุมานถือไว้ติดกับตัว หรือเอาน้ำมันนี้ เจิมหน้า ทาคิ้ว สีปาก เป็นเสน่ห์เมตตามหานิยม ป้องกันภัยอันตราย อยู่คงกระพันชาตรี ล่องหนหายตัวกำบังกาย เมื่อจะปรารถนาสิ่งใดให้ตั้งจิตอธิษฐานตามความปรารถนา จะสัมฤทธิ์ผลสมดังมโนรสทุกประการ
หมายเหตุ บางตำราเรียก ว่านหนุมาน ว่านหนุมานนั่งแท่น ว่านอาหนัง ว่านอานัง บางตำราว่ามีชนิดสีเขียวด้วย
พบในตำราของ
ชิตร์ วัฒนะ. ลักษณะว่าน. 2473, หน้า 14-15 เรียก ว่านหณุมาน
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 8-9
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 63-64
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 90 เรียก ว่านหนุมาน,
หน้า 90 เรียก ว่านหนุมาน อีกชนิด (ซ้ำ)
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 11, 18
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 24-25, หน้า 140 เรียก ว่านอานัง
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 57
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 49-50
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 417-419,
หน้า 440 เรียก ว่านอาหนัง (ซ้ำ)
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 67 เรียก ว่านหนุมาน (ต้นแดง),
หน้า 67 เรียก ว่านหนุมาน (ต้นเขียว)
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1029-1031,
หน้า 1036 เรียก ว่านอานัง
ว่านแสนพันล้อม
แสนพันล้อม Polianthes tuberose Linn.
ลักษณะ หัว ต้น ใบ เหมือนซ่อนกลิ่น ต่างกันแต่ดอกและเกษรสีเหลือง มีกลิ่นหอม
สรรพคุณ ทางเมตตามหานิยม ศิริมงคล ปลูกไว้กับบ้านป้องกันอันตรายทั้งปวง เป็นศิริมงคล ป้องกันเสนียดจัญไรทุกประการ เป็นเสน่ห์เมตตามหานิยม เป็นว่านเสี่ยงทายชะตาของเจ้าของ
หมายเหตุ ว่านนี้ ผู้เขียน คิดว่าน่าจะเป็น ต้นซ่อนกลิ่น ที่มีดอกซ้อน ภาพที่สองนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณอารีย์ กาละ จังหวัดนครศรีธรรมราช
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 121-122 เรียก ว่านแสนนางล้อม
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 55
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 415
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1027