มหาเมฆ
2. มหาเมฆ Curcuma aeruginosa Roxb.
ลักษณะ ต้นและกระดูกใบแดงจนถึงปลายยอด ดอกเป็นพวงดุจดอกระกำ หัวเหมือนหัวขมิ้น หัวเมื่อผ่าออกเนื้อในสีม่วงแกมฟ้า หรือสีม่วงกับสีฟ้าจะเป็นสีอ่อนๆ ถ้าปลูกทิ้งไว้ในดินหลายๆ ปี จะกลายจากสีม่วงเป็นสีเหลืองไปได้
สรรพคุณ ทางสมุนไพร เป็นยาชักมดลูกเข้าอู่เร็ว ใช้หัวหั่นเป็นแว่นดองกับสุรา ให้หญิงคลอดบุตรใหม่ๆ กิน เป็นยาช่วยรักษามดลูกให้ยุบตัวเข้าอู่เป็นปกติดี หรือเอาหัวว่านนี้ ฝนกับน้ำสุกหรือน้ำสุรากิน แก้ท้องแน่นจุกเสียด หรือท้องร่วงหายดีนัก
ทางคงกระพัน คุ้มครอง ถ้าจะทำให้ว่านมหาเมฆนี้มีอิทธิปาฏิหาริย์ ให้เอาหัวว่านนี้เสกด้วย “อิติปิโสธงชัยฯ” 3 คาบ เมื่อเวลาเมฆเคลื่อนเข้าจับแสงอาทิตย์จนมืดมิด แล้วเอาว่านที่เสกนี้กินจะมีกำลังมาก และคงทนต่อศาสตราวุธทั้งปวง เป็นจังงังด้วย ถ้าจะหายตัวให้เอาว่านนี้ทาตัว เดินไปคนมองไม่เห็นตัว
พบในตำราของ
ชิตร์ วัฒนะ. ลักษณะว่าน. 2473, หน้า 13
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 11-12
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 51-52
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 86
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 8
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 34-35
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 63
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 30-31
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 313-314
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 58-59
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 79
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 999-1000