ว่านพระยาแร้งแค้น
พระยาแร้งแค้น Blumea balsamifera DC.
ลักษณะ ต้นเหมือนต้นผักกาดน้ำ ใบเป็นจักๆ ละเอียดกว่าใบผักกาดน้ำ ครีบและก้านแดง ท้องใบและหลังใบสีขาว ดอกสีเหลือง กลิ่นเหมือนกลิ่นกระเทียม
สรรพคุณ ทางเล่นแร่แปรธาตุ ใช้เป็นยาฆ่าปรอทตายเป็นกายสิทธิ์ ให้เอาว่านมาโขลกคั้นเอากากกวนกับปรอท แช่อยู่ 7 วันปรอทนั้นตาย ถ้าจะทำให้มีฤทธิ์มากยิ่งขึ้น ให้เอาปรอทที่ตายนี้แช่น้ำกระทือ แช่น้ำมะพร้าว แช่น้ำนมโค แช่น้ำผึ้ง อย่างละ 7 วัน ปรอทที่ตายนั้นเป็นกายสิทธิ์วิเศษนัก
อีกประการหนึ่ง ให้เอาว่านพระยาแร้งแค้น 1 ส่วน ว่านเพชรสังฆาต 1 ส่วน ยางสลัดได 1 ส่วน หญ้าจูบจาม 1 ส่วน เอายาทั้งหมดนี้โขลกให้ละเอียด กวนเข้ากับปรอท ปรอทนั้นจะตายเป็นกายสิทธิ์ เอาตะกั่ว 4 ตำลึง หลอมให้ละลาย เอากากผงนี้ซัด พอแห้งแล้วเอาปรอทที่ตายแล้วซัดซ้ำลงไป ตะกั่วนั้นจะกลายเป็นเงินบริสุทธิ์
หมายเหตุ ว่านนี้บางทีก็เรียกว่า ว่านพระยาแร้นแค้น ว่านชนิดนี้น่าจะเป็น ต้นหนาดใหญ่
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 27
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 83
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 32
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 79-80
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 20-22
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 65 เรียก ว่านพระยาแร้นแค้น
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 261-262
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 12
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 987 เรียก ว่านพระยาแร้นแค้น