ว่านสดุ้ง
สดุ้ง Mimosa pudica Linnaeus.
ลักษณะ ก้านสีเหลืองแก่ค่อนข้างแดง ใบเขียว ดอกแดง เมื่อต้นงอกขึ้น เจริญงอกงามขึ้นขวางพระอาทิตย์ เงานั้นจะเลื่อนติดกันไป
สรรพคุณ ทางศิริมงคล และทางคุ้มครอง ปลูกไว้กับบ้านเป็นศิริมงคล ป้องกันภัยพิบัติอันตรายต่างๆ ถ้าจะขุดหัวว่าน ท่านให้พลีเอาและอธิษฐานตามใจชอบ เอาหัวมาแกะเป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร มือขวาลง “ติ” มือซ้ายลง ”นะ” ริมปากขวาลง “ทะ” ริมปากซ้ายลง “ริ” หน้าผากลง “สิ” หน้าอกลง “ระ” ท้องลง “อุ” เท้าขวาลง “ยะ” เท้าซ้ายลง “กะ”
เมื่อลงอักขระครบถ้วนแล้ว เอาพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรนี้ ตั้นบนพานยืนหันหน้าออก จัดเครื่องสักการะบูชาให้ครบถ้วน ปลุกเสกด้วยคาถานี้ “อะตะชิวะ มะมะจะ นิทิพิโน ปะรายันติฯ” ปลุกเสก 108 คาบ จะไปในที่ใด ให้นำติดตัวไปด้วย คุ้มครองป้องกันอุบัติเหตุอันตรายต่างๆ แคล้วคลาด บูชาไว้กับบ้านเป็นศิริมงคล คุ้มครองป้องกันภัยพิบัติอันตรายทั้งปวง
หมายเหตุ บางตำราเขียนว่า ว่านสะดุ้ง ว่านชนิดนี้ น่าจะเป็น ต้นไวยราบ หรือ ไมยราบ เนื่องจากเป็นพืชที่ไว้ต่อการสัมผัส เมื่อไปสัมผัสโดนเข้า จะหุบใบทันที คล้ายอาการสะดุ้ง
พบในตำราของ
ชิตร์ วัฒนะ. ลักษณะว่าน. 2473, หน้า 4-5
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 23-24
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 89
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 29-30
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 363
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 27-28
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1029