ว่านเพชรนารายณ์
เพชรนารายณ์ Dracaena thalioides hort. Makoy ex E.Morren
ลักษณะ ต้นและใบสีเขียว สัญฐานของใบเหมือนใบหอกที่ใช้เป็นอาวุธ ดอกสีแดงเหมือนดอกหงอนไก่ ออกดอกในเดือน 12 จึงมีฝักสีขาว
สรรพคุณ ทางคุ้มครอง ทางเมตตามหานิยม และทางคงกระพัน มีอานุภาพอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์สุดที่จะพรรณนา นำหัวว่านติดตัวไปด้วย เข้ายุทธสงครามทำให้ข้าศึกครั่นคร้ามเกรงขาม มีชัยชนะ ข้าศึกเป็นจังงัง ยอมอ่อนน้อมโดยสิ้นเชิง กำบังกาย คงทนต่ออาวุธทั้งปวง และเป็นเสน่ห์เมตตามหานิยมวิเศษนัก
เมื่อจะเอาหัวว่านเพชรนารายณ์ไปใช้ เวลาจะขุดว่านนี้ให้ดูฤกษ์ยามวันที่ดี จึงแต่งเครื่องบูชาเทพเจ้า มีข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน ระลึกถึงพระรัตนตรัย และพระเจ้าห้าพระองค์ จุดธูป 5 ดอก เทียน 5 เล่ม ทำน้ำมนต์เสกด้วย “นะโมพุทธายะฯ” รดรอบๆ ต้นว่าน แล้วจึงขุดเอาหัวว่านผึ่งแดดไว้ในที่สูง ครั้นถึงเดือนดับจึงแต่งเครื่องสักการะบูชา แล้วจึงเอาหัวว่านนี้มาแกะเป็นรูปพระนารายณ์สี่กร มือขวาถือดอกบัว มือซ้ายถือสังข์ มือขวาข้างบนถือจักร มือซ้ายข้างล่างถือพระขรรค เสกด้วยคาถา “อะมะมะชัยยัง อัปปะราชัยยัง อะระหัง มหาเพชศัตรู ยังสัพพะภัยอาหะฯ” เสกให้ได้ 108 คาบ เวลาเสกให้หันหน้าไปสู่ทิศบูรพา แล้วเอาธาตุพระอรหันต์ กับรูปพระนารายณ์ใส่ไว้ในตลับทอง บูชาไว้กับบ้านคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่างๆ และเป็นศิริมงคลบันดาลให้เกิดโชคลาภเข้ามามิได้ขาด จะปรารถนาสิ่งใดให้จุดธูปเทียนบูชาอธิษฐานเอาตามความตั้งใจ จะบังเกิดความสัมฤทธิ์ผลทุกสิ่งอัน ถ้านำติดตัวไปด้วยเป็นเสน่ห์เมตตามหานิยม เข้าสู่การรณรงค์สงครามมหาพิชัยยุทธ อาวุธทั้งปวงมิได้แผ้วพาล สามารถล่องหนหายตัว ชนะแก่ข้าศึกศัตรูนั้นแล
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ ว่านนารายณ์ (คนละต้นกับ ว่านพระนารายณ์ ที่เป็นตระกูลขมิ้น)
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 5-6
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 85
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 13-14 เรียก ว่านนารายณ์
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 49-50
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 28-29
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 24
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 276-277
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 7-8
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 995-996 เรียก ว่านเพ็ชนารายณ์