ว่านไพลขาว และไพลดำ
2. ไพลขาว และไพลดำ Zingiber kerrii Craib.
ลักษณะ ไพลขาว และไพลดำ เป็นว่านชนิดเดียวกัน เนื้อในหัวสีดำหรือสีขาวนั้น ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ และสถานที่ ที่ว่านเกิดขึ้น ว่านชนิดนี้ ต้นและใบเหมือนไพลธรรมดาทุกประการ แต่ต่างกันที่ต้น และใบสีเขียวเข้มถ้าขึ้นในที่ค่อนข้างมืด หรือมีพลายปรอทถ้าขึ้นในที่ค่อนข้างสว่าง โคนต้นแดงหรือแดงดำ หัวกลมรีเล็กขนาดปลายก้อยต่อกันเป็นแถว ปลายรากพองออกคล้ายรากกระชาย เนื้อในหัวมีสีต่างกัน เช่น สีขาว สีม่วง สีดำอ่อน สีดำเข้ม ถ้าปลูกในที่ร่มหัวจะขาว ถ้าปลูกในที่กลางแจ้งเป็นดินเหนียวหรือดินทราย หัวจะเป็นสีม่วง ถ้าปลูกในที่ดินร่วน มีใบไม้ปกคลุมหรือมีหญ้ามาก หัวจะเป็นสีดำ ว่านชนิดนี้แตกหน่อค่อนข้างน้อย หัวเล็ก และหายาก จึงนิยมใช้ราก ต้น ใบ ของว่านนี้ทำยารักษาโรค มากกว่าจะใช้หัวเพียงอย่างเดียว
สรรพคุณ ทางสมุนไพร เป็นยาอายุวัฒนะและเป็นยากำลัง โดยใช้หัวและรากดองกับสุรากิน
แก้โรคกระเพาะอาหารเป็นพิษ ลำไส้เป็นแผล แก้ช้ำใน แก้บวมทั้งตัว โดยใช้ทั้งต้นต้มกับน้ำกิน
ทางคงกระพันชาตรี เอาหัวว่านเสกด้วย “นะโมพุทธานะ พุทธะสังมิ อุทธังอัทโธฯ” เสกให้ได้ 108 คาบ ใช้กินหรือนำติดตัวคงทนต่ออาวุธทั้งปวง เอาหัวว่านฝนผสมกับหมึก สักติดกับตัวลงอักขระ “จะภะกะสะฯ” เสกน้ำหมึกผสมว่านด้วยคาถาบทแรกสามวรรคดังกล่าว 108 คาบ หรือฝังไว้ในร่างกาย คงทนต่ออาวุธตลอดชีพ
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 66 เรียก ว่านไพลดำ และ ไพลขาว
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 29 เรียก ว่านไพรขาว
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 291 เรียก ว่านไพลขาว
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 993-994 เรียกว่านไพลดำและไพลขาว