ว่านมหากวัก
ว่านมหากวัก Curcuma sp.
ลักษณะ ใบสีเขียวเหมือนขมิ้น แต่เล็กกว่าใบขมิ้น หัวแยกออกเป็นหน่อขึ้นที่กาบของต้น เมื่อหน่อยาวพ้นกาบแล้วจะกลับงอลงดินไปอีก แล้วก็งอกพ้นดินใหม่และแตกออกจากต้นเดิมเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไป เนื้อในหัวสีขาวนวล
สรรพคุณ ทางเมตตามหานิยม ปลูกไว้กับบ้านทำให้เกิดศิริมงคล มีความสุขความเจริญรุ่งเรือง เกิดโชคลาภนานาประการ เป็นเสน่ห์มหานิยม ถ้าปลูกไว้ที่ร้านค้าขาย ทำให้ซื้อง่ายขายคล่องเป็นมหานิยมค้าขายดี จุดธูปบูชาประกอบด้วยดอกไม้ 7 สี เสกน้ำรดด้วย “นะโมพุทธายะฯ”
เมื่อหัวว่านแก่เต็มที่แล้วขุดขึ้น นำมาแกะเป็นรูปนางกวักประกอบพิธีด้วยเครื่องบูชา ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน เอารูปนางกวักที่แกะด้วยหัวว่านนี้ใส่ลงในพานแช่ด้วยน้ำมันจันทน์เพียงครึ่งตัว ถึงยามดึกสงัดแล้วให้เสกบริกรรมด้วย “อิติปิโส ถึง ภะคะวาติฯ” จนปรากฏว่านางกวักลอยขึ้นพ้นน้ำมันจันทน์ หรือน้ำมันจันทน์ที่แช่เคลื่อนตัวหมุนไปรอบๆ พาน นับว่าเป็นการประสิทธิสัมฤทธิ์ผล เอานางกวักนำติดตัวไปด้วย เป็นเสน่ห์มหานิยมวิเศษนัก และยังมีอานุภาพอยู่ยงคงกระพันชาตรี จังงังล่องหนหายตัวอีกด้วย จะปรารถนาสิ่งใดจะสัมฤทธิ์ตามความมุ่งหวังทุกประการ น้ำมันจันทน์หรือน้ำมันหอมที่แช่นางกวักนี้ จะไป ณ ที่ใดให้เจิมหน้าสีปาก นึกสิ่งใดจะสำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ
หมายเหตุ ว่านต้นนี้ได้รับความอนุเคระห์จาก คุณสุวัตร กิติกูล จังหวัดนนทบุรี
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 58-60
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 18
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 302-303
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 111
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 947 เรียก ว่านกวัก ,
หน้า 1000-1001 เรียก ว่านมหากวัก