ว่านญาณรังษี
ว่านญาณรังษี Canna indica L.
ลักษณะ มีใบสี่ใบ ดุจใบพุทธรักษา สำต้นแดง ก้านแดง(สาบแดง) ครีบใบแดงดุจดอกบัว มีดอกออกก้านละสี่ดอก มีกลิ่นหอม มีหัวเป็นชั้น ชั้นบนดั่งพระพุทธรูป ผ่าออกมีสีขาว ชั้นต่ำนั้นดั่งรัตนบัลลังก์ ผ่าออกเป็นสีบัวโรย มักขึ้นตามเนินและยอดเขา ที่อากาศหนาวเย็น
สรรพคุณ เป็นว่านกายสิทธิ์คุณรอบด้าน ว่านนี้มักขึ้นเมื่อเดือนแปด แรมค่ำหนึ่ง ย่อมมีเทพยดาบำเรอฆ้องกลองแตรสังข์ ครั้นเดือนสิบเอ็ดแรมค่ำเทพยดาคลาดเคลื่อน ถ้าพบแล้วให้บำเพ็ญศีล 5 ศีล 8 นุ่งขาวห่มขาวแต่งเครื่องกระยาบวชข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนและโรยนพรัตน์ให้รอบต้น แล้วบูชาเทพยดาทั้งสี่ทิศ เอาคาถานี้สวดให้จบ “ทุกขปัตตา จนถึง ละภะพัตถุเทวตาฯ” สวด 7 จบ แล้วขุดเอาหัวว่านห่อด้วยผ้าขาวเจ็ดชั้น นิมนต์พระสงฆ์ 5 รูป เอาด้ายมงคลครอบที่หัวว่าน พระสวดธรรมจักร 3 จบ แล้วเอาหัวว่านชั้นบนแกะเป็นพระพุทธรูป รองลงมาแกะเป็นรัตนะบัลลังก์ ต่ำลงมาแกะเป็นแม่พระธรณี แล้วจึงเอาอักขระนี้ “ปะถะสุทธิ มหาวิชัยยังฯ” ลงรอบรัตนะบัลลังก์ ลงองค์พระด้วยอักขระนี้ “อะมินาทะอะมินะปะนะฯ” และลงที่ใต้ขัดสมาธิ ด้วยอักขระนี้ “เตชะสุเนมะ ภูจานะวิเวฯ” เมื่อจะลงอักขระท่องด้วยคาถานี้ “ตะคะสังสุเนหังฯ” เมื่อเสร็จแล้วปลุกเสกด้วยคาถา “นะมะพะทะฯ” 108 คาบ
พระพุทธรูปว่านญาณรังษี มีอานุภาพมหัศจรรย์วิเศษนัก บูชาไว้กับบ้านจะปรารถนาสิ่งใดมีความสัมฤทธิ์ผลทุกประการ ถ้านำติดตัวไปด้วยสามารถป้องกันภัยพิบัติศาสตราวุธในยุทธสงครามมิได้แผ้วพานต่อร่างกายเลย เป็นเสน่ห์เมตตามหานิยมวิเศษยัก ให้นึกเอาตามความปรารถนา จะเกิดความสำเร็จผลทุกประการ
หมายเหตุ บางตำราเรียกว่า ว่านหญ้า ณ รังษี ว่านสี่ทิศ ว่านชนิดนี้บางตำราก็บอกว่าเป็น ว่านสี่ทิศ บางตำราก็บอกว่าเป็น ต้นพุทธรักษา แต่ปัจจุบันจะเล่นเป็น ต้นพุทธรักษา ซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน ภาพนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม จังหวัดกรุงเทพมหานคร
พบในตำราของ
ชิตร์ วัฒนะ. ลักษณะว่าน. 2473, หน้า 1-3 เรียก ว่านหญ้าณรังษี
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 21-22 เรียก ว่านหญ้าณะรังษี
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 65-66 เรียก ว่านสี่ทิศ
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 79
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 28-29 เรียก ว่านหญ้าณรังษี
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 101-102 เรียก ว่านญาณรังสี
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 91-92 เรียก ว่านหญ้าณะรังษี
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 15-16
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 140-141 เรียก ว่านหญ้า ณ รังษี
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 51-53 เรียก ว่านหญ้าณรังสี
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 963-6-964 เรียก ว่านญาณรังสี
ว่านไชยมงคล
ว่านไชยมงคล Crinum asiaticum L. var. anomalum Baker
ลักษณะ หัวเหมือนกันหัวหอมสีขาว ใบเหมือนใบพลับพลึงแต่ยาวกว่า ใบจะม้วนกอดบิดเกลียวกันเข้าหาลำต้น ดอกเหมือนพลับพลึงสีขาว
สรรพคุณ ทางคุ้มครอง และทางเมตตา ว่านนี้มีคุณคุ้มกันภยันอันตรายต่างๆ และเป็นของที่เกิดเป็นศิริมงคลให้กับผู้ปลูกด้วย ถ้าเราจะมีโชคลาภใบจะม้วนกอดกันเป็นเกลียว ถ้าไม่มีโชคลาภใบจะเหยียดยาวธรรมดา
หมายเหตุ ว่านนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า ว่านเศรษฐีสอด ว่านสอด
พบในตำราของ
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 90-91
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 20
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 62 เรียก ว่านเศรษฐีสอด
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 49
ว่านเชือกเขามูกหลวง
ว่านเชือกเขามูกหลวง Flagellaria indica Linn.
ลักษณะ ต้นเหมือนหวายชุมพร ไส้ในกลวง ใบเหมือนใบตาลหม่อน เมื่อว่านนี้ขึ้นในที่ใดก็ตาม ใต้ต้นว่านนี้จะไม่มีหญ้าขึ้นเลย ต้นเหนียวเหมือนหวาย
สรรพคุณ ทางเล่นแร่แปรธาตุ เอาว่านนี้มากวนกับปรอท ฆ่าปรอทตายเป็นกายสิทธิ์ ถ้าจะทำให้เป็นเงิน เอาว่านเหล่านี้มาหนัก 2 เฟื้อง เอารากพันงูแดง รากท้าวยายม่อม หญ้าปากควาย หัวดองดึง ชุมเห็ด ส้มกบยอดแดง สาบแร้งตัวผู้ เอามาเท่าๆ กัน บดเป็นผง ทำเป็นยาซัดดีบุกให้เป็นเงินธรรมชาติ
หมายเหตุ ว่านนี้เรียกอีกชื่อว่า ว่านเขามูกหลวง ว่านชนิดนี้น่าจะเป็น ต้นหวายลิง (หวายเย็บจาก) ว่านต้นนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณอารีย์ กาละ จังหวัดนครศรีธรรมราช
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 27
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 79
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 32-33
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 98
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 103-104 เรียก ว่านเขามูกหลวง
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 35
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 962-963
ว่านช้างผสมโขลง
ว่านช้างผสมโขลง Eulophia andamanensis Rchb.f.
ลักษณะ ต้นและใบเหมือนใบข้าว สีเขียว หัวคล้ายกับหน่อไม้ที่เพิ่งโผล่ขึ้นเหนือดินมีสีเขียว
สรรพคุณ ทางเสน่ห์มหานิยม มีอานุภาพในทางเสน่ห์เมตตามหานิยม แล้วแต่จะนำหัวว่านนี้ไปใช้ ถ้าเอาผงว่านนี้โรยใส่ตุ่มน้ำกิน คนรักหลงใหลทั้งครัวเรือน เมื่อจะใช้ว่านนี้ ให้เสก “นาสังสิโม สังสิโมนา สิโมนาสัง โมนาสังสิฯ” คาถานี้คือ คาถาพระยาเต่าเลือน
หมายเหตุ ว่านเรียกอีกอย่างว่า ว่านพระยาเทครัว
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 111
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 82-83
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 10
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 137
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 65
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 961