ว่านแร้งคอคำ
แร้งคอคำ Crinum latifolium Linn.
ลักษณะ หัวเหมือนหอมหัวใหญ่ ต้นและใบคล้ายพลับพลึง แต่เล็กกว่า ตรงคอใบและก้านสีแดง เมื่อดึงกาบออกจะมีใยบัว แต่ถ้าไม่มีใย ไม่ใช่ว่านแร้งคอคำ
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ใช้เป็นยารักษาโรค เอาหัวว่านดองกับสุราหรือน้ำร้อน กินเป็นยาชักมดลูกให้เข้าอู่ แก้เมื่อยตามร่างกาย แก้ริดสีดวงทวาร ใช้หัวรมไฟที่ทวาร
ทางคงกระพันชาตรี เสกหัวว่านด้วยคาถานี้ “นะมะพะทะ นะโมพุทธายะฯ” 3-7 คาบ
หมายเหตุ ว่านนี้เรียกหลายชื่อ คือ ว่านแร้งคอคำตัวผู้ ว่านพระยาแร้ง ว่านพระยาแร้งคอคำ ว่านกระทู้ ว่านกระทู้เจ็ดแบก ว่านนี้น่าจะเป็นต้นเดียวกับ ว่านแสงทอง ว่านสบู่ทอง ว่านแสงเงิน (ว่านแสงเงินแสงทอง)
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 30-31, หน้า 46 เรียก ว่านกระทู้ (ซ้ำ)
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 35, หน้า 39-40 เรียก ว่านกระทู้ (ซ้ำ)
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 80 เรียก ว่านพระยาแร้งคอคำ,
หน้า 126 เรียก ว่านกระทู้ (ซ้ำ)
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 18 เรียก ว่านพระยาแร้งคอคำ, หน้า 42-43 (ซ้ำ)
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 38
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 66 เรียก ว่านกระทู้,
หน้า 263 เรียก ว่านพระยาแร้งคอคำ
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 12 เรียก ว่านพระยาแร้ง, หน้า 34-35 (ซ้ำ)
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 60
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 937-938 เรียก ว่านกระทู้,
หน้า 985 เรียก ว่านพระยาแร้งคอคำ, หน้า 1009
ว่านร่อนทอง
ร่อนทอง Boesenbergia sp.
ลักษณะ ต้น และใบ คล้ายกระชาย แต่หัวเป็นไหลต่อกันเป็นข้อๆ เนื้อในเป็นสีเหลืองส้ม แตกออกเป็นเปราะๆ หัวคล้ายกระชาย
สรรพคุณ ทางสมุนไพร หัวใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงโลหิต แก้พิษไข้ พิษฝี แก้โลหิตเป็นพิษ เอาหัวต้มกิน หรือใช้หัวผสมกับยาสมุนไพรอื่นๆ เป็นยารักษาโรคต่างๆ เอาหัวว่านทาแผลที่แมลงสัตว์กัดต่อยต่างๆ เพื่อถอนพิษหายปวดบวม
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ ว่านร่วมทอง ว่านขอทอง ว่านนี้เป็นคนละต้นกับ ว่านลวดทอง
พบในตำราของ
ชิตร์ วัฒนะ. ลักษณะว่าน. 2473, หน้า 11
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 10-11
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 86
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 112
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 120-121
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 31 เรียก ว่านร่วมทอง
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 337 เรียก ว่านร่วมทอง,
หน้า 338-339 (ซ้ำ)
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1008
ว่านไม้ดีด
ไม้ดีด Kaempferia rotunda L.
ลักษณะ ต้นและหัวคล้ายกระทือ เนื้อในหัวมีสีขาว กลิ่นหอมเล็กน้อย กาบสีแดง ใบคล้ายใบขมิ้น หน้าใบมีลายสีขาว หลังใบสีน้ำตาล
สรรพคุณ ทางสมุนไพร เป็นยารักษาโรคตาทุกชนิด เอาหัวสดๆ หั่นเป็นแว่นแช่น้ำฝนบริสุทธิ์ คือ ให้รองน้ำฝนที่กลางแจ้ง เอาหัวว่านที่หั่นแช่น้ำฝนนี้ มาหยอดตาที่เป็นโรคต่างๆ เกี่ยวกับโรคตาโดยเฉพาะ
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 115
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 47
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 331
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 64
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1007
ว่านแม่โพสพ
แม่โพสพ Oryza minuta Presl.
ลักษณะ ต้น ใบ ดุจดังต้นข้าว รากเลื้อยออกเหมือนรากหญ้าคา
สรรพคุณ ทางศิริมงคล เอาว่านแม่โพสพใช้ในพิธีไหว้เจ้าแม่โพสพ ที่เรียกว่า ทำขวัญข้าว เพื่อป้องกันขับไล่โรคภัย สัตว์ต่างๆ ที่เข้ามาทำลายรบกวนต้นข้าว และทำให้ต้นข้าวมีความเจริญงอกงามดี
หมายเหตุ ว่านชนิดนี้ คุณสุวัตร กิติกูล ให้ข้อมูลว่า น่าจะเป็น หญ้าละมาน หรือ ข้าวละมาน ซึ่งใช้ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ มีลักษณะเหมือน ต้นข้าวธรรมดาทุกประการ เพียงแต่เมล็ดจะลีบกว่า และมีหาง เรียกได้หลายชื่อ คือ ข้าวหาง ข้าวนก ข้าวป่า หญ้าปล้องละมาน หญ้าข้าวนก หญ้าลิเก ข้าวดีด ข้าวเด้ง
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 111-112
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 340
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 63
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1007