ว่านไพลปลุกเสก
ไพลปลุกเสก Zingiber sp.
ลักษณะ ต้น หัว ใบ คล้ายไพลเหลืองทุกอย่าง แต่ต่างกันที่พื้นใบสีเขียว มีสีขาวเป็นทางสลับกัน โบราณคณาจารย์ท่านกล่าวว่าเป็นไพลที่ฤาษีปลุกเสก แล้วได้มีการขยายพันธุ์ทั่วพื้นพิภพจักรวาลที่ว่านไพลชนิดนี้เกิดขึ้น
สรรพคุณ มีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์เหนือกว่าว่านไพลทุกชนิด
ทางสมุนไพร ใช้เป็นยารักษาโรคได้ทุกชนิด
ทางคุ้มครอง กินและทาแก้คุณไสยอาถรรพเวทย์ทุกชนิด ใช้ขับภูติผีปีศาจคนที่ถูกคุณไสยได้ทุกอย่าง หรือนำติดตัวก็ได้ ป้องกันอันตรายต่างๆ
ทางคงกระพัน กินหัวว่าน คงทนต่อศาสตราวุธในยุทธสงครามทุกชนิด เสกหัวว่านด้วย “นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะพะกะสะ ฯ” 3 คาบ
ทางเมตตามหานิยม ปลูกไว้กับบ้านเป็นศิริมงคล เจริญด้วยโภคทรัพย์
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ ว่านฤาษีสร้าง ว่านไพลเสก ว่านไพลด่าง
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 66-67
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 111-112 เรียก ว่านไพลเสก
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 29
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 294-295
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 80 เรียก ว่านไพลด่าง
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 33 เรียก ว่านไพลปลุกเศก
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 993
ว่านไพลดำ ต้นที่ 2
2. ไพลดำ (ไพลม่วง) Zingiber ottensii Valeton.
ลักษณะ ลำต้นขึ้นเป็นกอ เอียงเล็กน้อย ต้น ใบ หัว คล้ายต้นกระทือ ลำต้นสีแดง ใบสีเขียวคล้ำ เนื้อในหัวสีม่วงจางๆ ช่อดอกออกจากดินขึ้นมา รูปใข่ปลายทู่ กาบหุ้มดอกเป็นรูปไข่มนๆ แข็งหนาสีแดงคล้ำ ดอกชั้นในสีเหลืองนวลๆ
สรรพคุณ ทางสมุนไพร เป็นยาแก้ฟกช้ำ แก้บอบช้ำ ดีนัก
ทางคงกระพัน ใช้หัวกินคงทนต่ออาวุธทั้งปวง
หมายเหตุ ว่านนี้มีอีกชื่อว่า กระทือดำ เฮียวดำ
พบในตำราของ
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 27 เรียก ว่านไพรดำ
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 71-72
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 84 เรียก ว่านไพรดำ
ว่านไพลดำ ต้นที่ 1
ไพลดำ มี 2 แบบ
1. ไพลดำ Zingiber spectabile Griff.
ลักษณะ ต้น ใบ หัว คล้ายไพล สีเขียวเป็นมันทั้งต้น เนื้อในหัวสีม่วง ดอกเป็นช่อหนาแข็งสีแดงสด
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ใช้ทาแก้บอบช้ำได้ดีมาก
ทางคงกระพัน ใช้หัวกิน หรือผสมยาสัก คงทนต่อาวุธ
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ จะเงาะ ดากเงาะ
พบในตำราของ
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 28 เรียก ว่านไพรดำ
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 292-293
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 60-61 เรียก ว่านไพรดำ
ว่านไพลชมพู
ไพลชมพู Zingiber rubens Roxb.
ลักษณะ ลำต้นตั้งตรงสูงประมาณ 1 เมตร ใบเรียวยาวปลายแหลม แต่จะกว้างกว่าไพลเหลืองเล็กน้อย แผ่นใบเรียบ หัวคล้ายเหง้าข่า เนื้อในสีชมพูอ่อนๆ กลิ่นหอมร้อน หัวเมื่อขุดขึ้นมาแล้ว จะมีรากติดมาไม่มากนัก เมื่อรากแห้งแล้ว ทำให้ผิวของหัวว่านเรียบไม่ค่อยมีรากติดสักเท่าไหร่
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ใช้รักษาอาการเคล็ดขัดยอกฟกช้ำได้ดี โดยนำหัวมาฝนกับน้ำหรือสุราทาบริเวณที่มีอาการ กินเป็นยาอายุวัฒนะ
หมายเหตุ ว่านนี้ มีหลายชื่อ คือ ว่านไฟ ถ้าต้นมีขนาดใหญ่ (2 – 3 เมตร) เนื้อสีชมพูเข้ม เรียกว่า ไพลแดง
พบในตำราของ
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 73