ว่านไพลขาว และไพลดำ
2. ไพลขาว และไพลดำ Zingiber kerrii Craib.
ลักษณะ ไพลขาว และไพลดำ เป็นว่านชนิดเดียวกัน เนื้อในหัวสีดำหรือสีขาวนั้น ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ และสถานที่ ที่ว่านเกิดขึ้น ว่านชนิดนี้ ต้นและใบเหมือนไพลธรรมดาทุกประการ แต่ต่างกันที่ต้น และใบสีเขียวเข้มถ้าขึ้นในที่ค่อนข้างมืด หรือมีพลายปรอทถ้าขึ้นในที่ค่อนข้างสว่าง โคนต้นแดงหรือแดงดำ หัวกลมรีเล็กขนาดปลายก้อยต่อกันเป็นแถว ปลายรากพองออกคล้ายรากกระชาย เนื้อในหัวมีสีต่างกัน เช่น สีขาว สีม่วง สีดำอ่อน สีดำเข้ม ถ้าปลูกในที่ร่มหัวจะขาว ถ้าปลูกในที่กลางแจ้งเป็นดินเหนียวหรือดินทราย หัวจะเป็นสีม่วง ถ้าปลูกในที่ดินร่วน มีใบไม้ปกคลุมหรือมีหญ้ามาก หัวจะเป็นสีดำ ว่านชนิดนี้แตกหน่อค่อนข้างน้อย หัวเล็ก และหายาก จึงนิยมใช้ราก ต้น ใบ ของว่านนี้ทำยารักษาโรค มากกว่าจะใช้หัวเพียงอย่างเดียว
สรรพคุณ ทางสมุนไพร เป็นยาอายุวัฒนะและเป็นยากำลัง โดยใช้หัวและรากดองกับสุรากิน
แก้โรคกระเพาะอาหารเป็นพิษ ลำไส้เป็นแผล แก้ช้ำใน แก้บวมทั้งตัว โดยใช้ทั้งต้นต้มกับน้ำกิน
ทางคงกระพันชาตรี เอาหัวว่านเสกด้วย “นะโมพุทธานะ พุทธะสังมิ อุทธังอัทโธฯ” เสกให้ได้ 108 คาบ ใช้กินหรือนำติดตัวคงทนต่ออาวุธทั้งปวง เอาหัวว่านฝนผสมกับหมึก สักติดกับตัวลงอักขระ “จะภะกะสะฯ” เสกน้ำหมึกผสมว่านด้วยคาถาบทแรกสามวรรคดังกล่าว 108 คาบ หรือฝังไว้ในร่างกาย คงทนต่ออาวุธตลอดชีพ
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 66 เรียก ว่านไพลดำ และ ไพลขาว
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 29 เรียก ว่านไพรขาว
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 291 เรียก ว่านไพลขาว
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 993-994 เรียกว่านไพลดำและไพลขาว
ว่านไพลขาว ต้นที่ 1
ไพลขาว มี 2 แบบ
1. ไพลขาว Zingiber ligulatum Roxb.
ลักษณะ ต้น ใบ หัว กลิ่นรส คล้ายกับว่านไพลดำ(ม่วง) แต่เนื้อในหัวเป็นสีขาวนวล มีกลิ่นเหมือนไพล ต้นเขียว ใบเขียว
สรรพคุณ ทางคงกระพัน ว่านนี้กินแล้วอยู่คงเป็นเดือนๆ เวลาจะกินเสกด้วย คาถาพระเจ้า 16 พระองค์ “นะ มะ นะ อะ นุ กุ นะ กะ กุ อุ นุ อะ นะ อะ กะ อัง” 3 คาบ
หมายเหตุ ว่านตระกูลนี้ ยังแยกไปอีกหลายชื่อตามสีของเนื้อหัว คือ ว่านไพลดำ ทางภาคเหนือ (เนื้อขาวอมม่วง หรือ ดำจางๆ) ว่านเกราะเพชรไพฑูรย์ใหญ่ (เนื้อม่วง และ หัวเป็นไหลยาว) ขิงแห้ง (สมุนไพร)
พบในตำราของ
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 68 เรียก ว่านไพรขาว
ว่านไพล
ไพล Zingiber cassumunar Roxb.
ลักษณะ ต้นตั้งตรงสูงประมาณ 1- 2 เมตร ใบเล็กยาว ปลายใบเรียวแหลมคล้ายขิง หัวเป็นแง่งติดต่อกันเป็นพืด เนื้อในหัวสีเหลืองอมเขียว มีกลิ่นหอมร้อน ดอกเป็นช่อปลายแหลมขึ้นจากดิน กาบหุ้มดอกบางเป็นรูปขนมเปียกปูนสีแดงคล้ำ ดอกชั้นในสีขาวนวล
สรรพคุณ ทางสมุนไพร เอาหัวโขลกผสมกับสุรากินทำให้เลือดกระจายแก้ช้ำใน ขับระดูให้ประจำเดือนของสตรีเป็นปกติ เอาใบโขลกคั้นเอาน้ำกินแก้เมื่อย และแก้ครั่นเนื้อครั่นตัว เอาหัวฝนกับสุราหรือน้ำเปล่า ทาแก้ฟกช้ำ บวม ขัดยอก แพลงเคล็ด เอาน้ำคั้นจากหัวผสมเกลือสตุหนึ่งช้อนโต๊ะ และน้ำมันเบนซิน ทาแก้โรคเหน็บชา มือเท้าบวมก็ใช้ได้ เอาหัวพอกบาดแผลห้ามเลือดให้หยุด
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ ว่านไพลเหลือง ปูเลย ว่านไฟ
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 135-136 เรียก ว่านไฟ
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 296-297 เรียก ว่านไฟ
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 992
ว่านเพชรหึง ต้นที่ 3
3. เพชรหึง Curcuma comosa Roxb.
ลักษณะ ต้นและใบคล้ายขมิ้นอ้อย ต้นเขียวใบเขียว หลังใบเป็นขนคาย เนื้อในหัวสีขาว มีรสฉุนร้อน
สรรพคุณ ทางสมุนไพร กินแก้ลมอันบังเกิดให้จุกเสียดแน่น ทำให้หายได้ เพราะไปทำหน้าที่ขับผายลมออกมา
หมายเหตุ ว่านชนิดนี้ น่าจะเป็นชนิดเดียวกับ ว่านการบูรเลือด
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 6-7
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 12-13
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 23-25
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 289