ว่านพระยาหอกหล่อ
พระยาหอกหล่อ Tacca ieontopetaloides [L.] Kuntze
ลักษณะ เป็นไม้ลงหัวจำพวกบุก แต่ลำต้นเป็นเส้นริ้วเล็กๆ ต้นตั้งตรงขึ้นไป ใบแผ่ขยายในตอนยอดแบนน่าดู ดอกออกโดยแทงก้านขึ้นมาจากหัวใต้ดินจนสูงบางทีเลยยอด แล้วจึงออกดอกเป็นพวง เป็นไม้งอกงามในฤดูฝน พอฤดูหนาวจะทิ้งใบพักตัวจนกว่าจะถึงฤดูฝนต่อไปจึงงอกงามใหม่
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ให้ใช้ทำแป้งสำหรับคนเจ็บไข้ที่เป็นโรคเบื่ออาหารอ่อนเพลีย หรือเป็นโรคแผลเปื่อยในกระเพาะอาหาร ในลำไส้ โดยใช้แป้งละลายกับน้ำ เอาน้ำตาลกรวดใส่ผสมเล็กน้อย ยกขึ้นตั้งไฟกวนจนแป้งสุกแล้วยกลง ให้คนไข้กินจะเกิดกำลังและชุ่มชื่นหัวใจ
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ ว่านท้าวยายม่อม หัวท้าวยายม่อม
พบในตำราของ
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 265
ว่านพระยาหอกหัก
พระยาหอกหัก Typhonium sp.
ลักษณะ ใบคล้ายผักบุ้ง หัวคล้ายแห้วหมู ต้นสูงประมาณหนึ่งคืบ รสจืด เมื่อกินเข้าไปแล้วสามนาที รู้สึกคันปาก คันคอ และคันไปทั่วทั้งตัว
สรรพคุณ ทางสมุนไพร และทางคงกระพัน แก้โรคผิวหนัง เอาหัวว่านโขลกทาตรงที่เกิดโรคผิวหนังจะหาย นำหัวติดตัวไปด้วยทำให้เกิดคงกระพันชาตรี
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 81
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 266
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 14
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 986
ว่านพระยาสักดำ
พระยาสักดำ Colocasia antiquorum illustris.
ลักษณะ หัวและก้านคล้ายอุตพิต ก้านดำ ใบกลมเหมือนใบบัว ด้านหน้าใบดำ หลังใบนวล
สรรพคุณ ทางคงกระพัน เอาหัวนำติดตัวไปด้วยป้องกันศาสตราวุธทั้งปวง
หมายเหตุ บางตำราเรียกว่า ว่านพระยาศักดำ
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 80-81
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 264
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 986 เรียก ว่านพระยาศักดำ
ว่านพระยาแร้งแค้น
พระยาแร้งแค้น Blumea balsamifera DC.
ลักษณะ ต้นเหมือนต้นผักกาดน้ำ ใบเป็นจักๆ ละเอียดกว่าใบผักกาดน้ำ ครีบและก้านแดง ท้องใบและหลังใบสีขาว ดอกสีเหลือง กลิ่นเหมือนกลิ่นกระเทียม
สรรพคุณ ทางเล่นแร่แปรธาตุ ใช้เป็นยาฆ่าปรอทตายเป็นกายสิทธิ์ ให้เอาว่านมาโขลกคั้นเอากากกวนกับปรอท แช่อยู่ 7 วันปรอทนั้นตาย ถ้าจะทำให้มีฤทธิ์มากยิ่งขึ้น ให้เอาปรอทที่ตายนี้แช่น้ำกระทือ แช่น้ำมะพร้าว แช่น้ำนมโค แช่น้ำผึ้ง อย่างละ 7 วัน ปรอทที่ตายนั้นเป็นกายสิทธิ์วิเศษนัก
อีกประการหนึ่ง ให้เอาว่านพระยาแร้งแค้น 1 ส่วน ว่านเพชรสังฆาต 1 ส่วน ยางสลัดได 1 ส่วน หญ้าจูบจาม 1 ส่วน เอายาทั้งหมดนี้โขลกให้ละเอียด กวนเข้ากับปรอท ปรอทนั้นจะตายเป็นกายสิทธิ์ เอาตะกั่ว 4 ตำลึง หลอมให้ละลาย เอากากผงนี้ซัด พอแห้งแล้วเอาปรอทที่ตายแล้วซัดซ้ำลงไป ตะกั่วนั้นจะกลายเป็นเงินบริสุทธิ์
หมายเหตุ ว่านนี้บางทีก็เรียกว่า ว่านพระยาแร้นแค้น ว่านชนิดนี้น่าจะเป็น ต้นหนาดใหญ่
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 27
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 83
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 32
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 79-80
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 20-22
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 65 เรียก ว่านพระยาแร้นแค้น
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 261-262
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 12
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 987 เรียก ว่านพระยาแร้นแค้น