ว่านเอ็นเหลือง
เอ็นเหลือง Curcuma sp.
ลักษณะ หัว ต้น ใบ เหมือนขมิ้นอ้อย เนื้อในหัวสีเหลืองอ่อน
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ใช้หัวต้มกินเป็นยาแก้เส้นเอ็นไม่ปกติ หรือพิการ แก้อัมพฤกษ์ อัมพาต มือตาย เท้าตาย แก้โรคเหน็บชา แก้โรคเบาหวาน แก้โรคกษัย ไตพิการ แก้เลือดลมไม่เดิน เป็นยาร้อน คนเป็นไข้ หญิงมีครรภ์ห้ามกิน หรือใช้หัวดองสุรากินก็ได้
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 32
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 67
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 140
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 109
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 444
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 49
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 102
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1036
ว่านอึ่ง
อึ่ง Eulophia macrobulbon [Parish & Rchb.f.] Hook.f.
ลักษณะ ต้น ใบ ดังหมากผู้หมากเมีย ต้นและใบแดง หัวคล้ายว่านเขาวัวหัวป้อมๆ เหมือนตัวอึ่ง หรือปลาปักเป้าสีเขียวๆ ยางของว่านนี้เขียว ติดกันเป็นแถวๆ
สรรพคุณ ทางคงกระพัน ใช้กินคงกระพันชั่วเบา หากถูกตีหรือถูกฟัน ตัวผู้ถูกตีจะพองขึ้นเหมือนอึ่ง แต่ไม่มีรอยแตกหรือโลหิตออกมาเลย
ทางสมุนไพร ใช้แช่น้ำอาบแก้ผื่นคัน
ทางเล่นแร่แปรธาตุ เอาหัวว่านนี้มาบดให้ละเอียด แล้วกวนกับปรอท เป็นยาฆ่าปรอท ทำให้ปรอทตาย ถ้าจะทำให้ดีบุกหรือตะกั่วเป็นเงิน ให้เอาตะกั่วหรือดีบุกใส่เบ้าหลอมให้ละลายดี แล้วเอาปรอทที่ห่อในผ้าดำนั้น ซัดลงไปในเป้าจะทำให้ตะกั่วหรือดีบุกนั้น กลายเป็นเงินขึ้นมา ถ้าเอาเงินนี้มาแผ่เป็นแผ่น ลงยันต์ ม้วนเป็นตะกรุดใช้ป้องกันตัว มีคุณสมบัติอานุภาพเช่นเดียวกับปรอทกายสิทธิ์และเหล็กไหล
ว่านนี้ เป็นว่านกายสิทธิ์มีเทวดารักษา เมื่อจะปลูกจะต้องจุดธูปเทียน ข้าวตอกดอกไม้ บูชาเทวดา และว่าสักเคชุมนุมเทวดา ทำน้ำมนต์รดด้วยคาถาพระเจ้า 5 พระองค์ และนวหรคุณ 9 คาบ ว่า นะโม 3 จบ ดังนี้ “นะโมพุทธายะ อะสังวิสุโลปุสะพุภะฯ”
เมื่อถึงฤดูฝนหัวว่านแก่เต็มที่แล้ว จะขุดเอาหัวว่านไว้ใช้ทำประโยชน์ ให้เขียนยันต์ตัวเลขใส่บนฝ่ามือ เสกด้วยคาถาพระเจ้า 5 พระองค์ และนวหรคุณ แล้วจึงขุดว่านอึ่งนี้ เมื่อขุดออกจากดินเรียบร้อยแล้ว จึงเอาลวดเล็กๆ ร้อยปากผูกเป็นห่วง เก็บไว้หรือใส่ภาชนะในที่สมควร เมื่อจะเอาลวดร้อยปาก เสกด้วยคาถา “อิมัง กายะพัน ทะนัง อะทิถามิฯ” เพื่อป้องกันว่านหนี ถ้าจะปลูกจึงเอาลวดที่ร้อยปากออกเสียแล้วจึงทำพิธีปลูก
การเขียนเลขยันต์บนฝ่ามือ ดังนี้
เมื่อเขียนเส้นยันต์สี่เหลี่ยมว่าคาถานี้ “จัตตุยันตังสันตังฯ”
เมื่อขมวดหัวยันต์ทั้งสี่มุมว่าคาถานี้ “วิกรึงคะเรฯ”
เมื่อเขียนเส้นขวางในตายันต์ว่าคาถานี้ “อัตถิยันตังสันตังฯ”
เมื่อเขียนเลขไทยในตายันต์ว่าคาถานี้ “ 1 เอกะยักขา 2 นะวะเทวา 3 ตรีนิสิงเห 4 จตุเทวา
5 ปัญจะพรหมานะมามิหัง 6 ฉ้อวีจชะราชา 7 สัตตะนาเค 8 อัตถะอรหันตา 9 นะวะเทวา พุทธะสังมิฯ”
หมายเหตุ ภาพที่สองนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณดามษ์ เวลแมกโนเลียไทยแลนด์
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 17-18 เรียก ว่านกบ ว่านอึ่ง (ชนิดเดียวกัน),
หน้า 32 (ซ้ำ)
ไพฑูรย์ ศรีเพ็ญ. ตำราสรรพคุณยาไทย. 2484, หน้า 90
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 12
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 41-42
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 33
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 442-443
ว่านอานุภาพ
อานุภาพ Tacca plantaginea.
ลักษณะ ต้นคล้ายต้นระกำ ใบเหมือนใบพลู สีมันๆ มีลายเป็นพลายปรอทเล็กน้อย
สรรพคุณ เป็นยาบำรุงกำลัง ใช้ราก ต้น ใบ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเอาทั้งหมด ดองสุรา หรือต้มกินมีกำลังมาก มีอานุภาพคงกระพันชาตรี แม้ถูกจับใส่ครกแล้วตำ ก็ไม่เป็นอะไรเลย
หมายเหตุ ว่านชนิดนี้ เรียกอีกอย่าง คือ ดีปลาช่อน ค้างคาวเขียว ค้างคาวแคระ ว่านอณุมาน
พบในตำราของ
ชิตร์ วัฒนะ. ลักษณะว่าน. 2473, หน้า 11 เรียก ว่านอณุมาน
ล. มหาจันทร์. คู่มือนักเล่นว่าน. 2480, หน้า 63
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 114
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 51
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 441
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 1036
ว่านอาหนัง
อาหนัง Curcuma comosa Roxb.
ลักษณะ ต้น หัว ใบ ดังขมิ้นอ้อย ใบและต้นเขียว เนื้อในขาวฉุนร้อน
สรรพคุณ มีอานุภาพคงกระพันชาตรี ชั่วเบา ใช้ติดตัวไปได้
หมายเหตุ ว่านชนิดนี้ น่าจะเป็นต้นเดียวกับ ว่านสามพันตึง
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 32
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 11
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 97-98
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 45