ว่านท้าวชมพู
ว่านท้าวชมพู Curcuma sp.
ลักษณะ หัว ใบ เหมือนขมิ้น ร่องกลางใบสีแดง เนื้อในของหัวสีชมพู
สรรพคุณ ทางคงกระพัน ใช้กินทำให้เกิดคงกระพัน บดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งกินเป็นยามหากำลัง
หมายเหตุ ว่านนี้ น่าจะเป็นต้นเดียวกับ ว่านพระจันทร์ และ ว่านสบู่ทบ
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 83
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 59
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 166
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 970
ว่านรางนาค
ว่านรางนาค Hippeastrum reticulatum [L`Herit] Herb.
ลักษณะ ใบเหมือนกับใบพลับพลึง แต่หนากว่า และเล็กสั้นกว่า ตรงร่องกลางใบมีสีขาวเป็นทางตลอดใบ ปลายใบกลมมน ใต้ใบมีสีแดงดุจลูกหว้าแก่ หัวเหมือนหอมหัวใหญ่
สรรพคุณ ทางศิริมงคล ปลูกไว้ในบ้านเป็นศิริมงคล มีโชคลาภเจริญรุ่งเรือง
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ ว่านทางเงิน
พบในตำราของ
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 76
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 52
หมายเหตุ ปัจจุบันนี้ได้มี ว่านรางทอง เพิ่มขึ้นมา ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง ว่านรางเงิน กับ ว่านสี่ทิศดอกแดง ลักษณะใบคล้าย ว่านรางเงิน แต่เส้นกลางใบเล็กสีเหลือง สาบใบแดง (ก้านใบบริเวณโคนต้น) ดอกสีแดง
ว่านรางเงิน
ว่านรางเงิน Hippeastrum reticulatum [L`Herit] Herb.
ลักษณะ ใบเหมือนกับใบพลับพลึง แต่หนากว่า และเล็กสั้นกว่า ตรงร่องกลางใบมีสีขาวเป็นทางตลอดใบ ปลายใบกลมมน หัวเหมือนหอมหัวใหญ่
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ใช้หัวฝนทาหรือตำพอก แผลฝีมะคำร้อย และฝีฝักบัว
ทางคงกระพัน หัวใช้กินอยู่ยงคงกระพันชาตรี
ทางศิริมงคล ปลูกไว้ในบ้านเป็นศิริมงคล มีโชคลาภเจริญรุ่งเรือง
หมายเหตุ ว่านนี้มีหลายชื่อ คือ ว่านทางเงิน ว่านลางเงิน
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 116, หน้า 133 เรียก ว่านทางเงิน (ซ้ำ)
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 81-82
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 19 เรียก ว่านลางเงิน
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 165 เรียก ว่านทางเงิน, หน้า 340 (ซ้ำ)
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 63
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 51
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 971-972 เรียก ว่านทางเงิน,
หน้า 1009 (ซ้ำ)
ว่านทรหด
ว่านทรหด Curcuma comosa Roxb.
ลักษณะ ต้น ใบ เหมือนขมิ้น หัวเหมือนหัวเผือกแต่กลมเกลี้ยง เนื้อในมีสีขาว ตรงกลางใบเป็นร่องมีสีแดงปนน้ำตาล มีรสต่างกันถึง 5 รส
สรรพคุณ ทางสมุนไพร ใช้หัวหั่นเป็นแว่นย่างไฟดองสุรา หรือบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งกิน เป็นยาแก้ปวดมดลูก ชักมดลูก ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว สำหรับหญิงคลอดบุตรหรือลูกแท้งใหม่ๆ แก้หญิงอยู่ไฟไม่ได้ ผอมแห้งแรงน้อย ทำให้มือเท้าตาย แก้โรคปวดท้องมานานปี แก้มุตกิตระดูขาว แก้ริดสีดวงทวาร แก้โรคกษัยและโรคลมต่างๆ
หมายเหตุ ว่านนี้อีกชื่อ คือ ว่านชักมดลูก ว่านพระยาหัวศึก ว่านชนิดนี้เป็นคนละต้นกับ ว่านการบูรเลือด เพราะลักษณะคล้ายกันมาก ต่างกันที่ ว่านทรหด ใบสีเขียว กลางใบมีสีน้ำตาลแดงชัดเจน และน่าจะเป็นต้นเดียวกับ ว่านสบู่นั่งแท่น และ ว่านหนุมานนั่งแท่น และ ว่านสบู่เหล็ก ภาพนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม จังหวัดกรุงเทพมหานคร
พบในตำราของ
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 104-105
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 113-114
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 61-62
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 163-164
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 73-74
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 972